คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาหมั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฟ้องโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามบทกฎหมายดังกล่าวต่อไป เมื่อประธานศาลฎีกาได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวแล้ว หากคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 แต่ถ้าคดีอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะยื่นคำฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะยื่นคำฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาหมั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ฟ้องโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามบทกฎหมายดังกล่าวต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ เมื่ออ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาในปัญหาดังกล่าวแล้วหากคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 แต่ถ้าคดีอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share