คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3357/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อ ข. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงที่มีชื่อ ข. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่ความตายระหว่างฎีกา จึงไม่สามารถบังคับโจทก์ที่ 3 ได้ คงได้แต่อาศัยคำพิพากษาศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์ที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ เรียกจำเลยสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 สำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 2 ที่ 3 สำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
สำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย 41,345.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 41,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง จำเลยทั้งสามฟ้องขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 55605 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง รังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ก่อสร้างตึกแถวเลขที่ 24/83 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่กว้าง 8.20 เมตร ยาว 33 เมตร แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่าอากรแสตมป์ในการไถ่จำนอง รังวัดแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 55605 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินที่เหลือจากการชำระหนี้จำนองมาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนวน 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จนกว่าจะครบ ให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 44647 และ 44648 ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่าอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอน หากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งสามให้การ แก้ไขคำให้การฟ้องแย้ง และแก้ไขฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องและให้จำเลยทั้งสามคืนทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองโดยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความกลับมายังกองมรดกเพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคน กับให้ยกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและห้ามมิให้จำเลยทั้งสามเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ซึ่งเป็นตึกแถว) ของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.1 และข้อ 1.4 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับสำนวนแรกกับยกฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 55605 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ส่วนที่เป็นตึกแถวเลขที่ 24/83 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่กว้าง 8.20 เมตร ยาว 33 เมตร และให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 44647 และ 44648 ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาววรนุช บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาอนุญาต ส่วนโจทก์ที่ 3 ฐานะผู้จัดการมรดกของนายขจรเดช ถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ทนายจำเลยทั้งสามไม่ค้านการถึงแก่ความตายของโจทก์ที่ 3 ปัจจุบันพ้นเกินกำหนด 1 ปี แล้วไม่มีทายาทของนายขจรเดชเข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาจึงให้จำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ที่ 3 ออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคสอง ประกอบมาตรา 132 (3)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 3 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 กับนายขจรเดช โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ที่ 2 โดยการจดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายชนัฐ และนางสาววรนุช จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับนายขจรเดช โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน วันที่ 9 ตุลาคม 2533 โจทก์ที่ 2 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 55605 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีรวมชัยอะไหล่และบริษัทอู่ ส ทวีชัย จำกัด ซึ่งนายขจรเดชเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีรวมชัยอะไหล่ด้วย โดยมีหน้าที่ตีราคาค่าซ่อมรถที่บริษัทประกันภัยส่งมา วันที่ 9 เมษายน 2534 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด และธนาคารกสิกรไทย จำกัด ( มหาชน) ปี 2536 โจทก์ที่ 2 ก่อสร้างตึกแถว 4 ชั้น 3 คูหา บนที่ดินโฉนดเลขที่ 55605 เป็นบ้านเลขที่ 24/83 และ 24/84 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสวน (หนองรี) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยบ้านเลขที่ 24/83 ซึ่งเป็นตึกแถวพิพาทมีนายขจรเดชและจำเลยทั้งสามเป็นผู้พักอาศัยและใช้ประกอบกิจการร้านขจรกลการ (2001) ส่วนตึกแถวซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 24/84 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีรวมชัยอะไหล่ วันที่ 4 กันยายน 2544 นายขจรเดชถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 3 ในฐานะมารดามอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนายขจรเดช วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 โจทก์ที่ 3 กับจำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์มรดก วันที่ 16 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ถอนโจทก์ที่ 3 จากการเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านการขอถอนผู้จัดการมรดกกับมีอำนาจประนีประนอมยอมความ ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสามเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นจำเลยในข้อหาผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยักยอกทรัพย์ วันที่ 28 กันยายน 2549 โจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจและในฐานะส่วนตัวตกลงโอนทรัพย์มรดกของนายขจรเดชและทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกันกับนายขจรเดชให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1.2, 1.3, 1.5 และ 1.6 เสร็จสิ้นแล้ว แต่โจทก์ทั้งสามยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1.1 คือแบ่งแยกที่ดินและตึกแถวตามโฉนดเลขที่ 55605 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และข้อ 1.4 คือโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 44647 และ 44648 ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่จำเลยที่ 1
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.1 มีผลบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.1 กับนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 หรือไม่ คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์ที่ 1 ให้นายขจรเดชครอบครองตึกพิพาท โดยโจทก์ที่ 1 ไม่เคยตกลงขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้นายขจรเดช ทั้งไม่เคยยินยอมให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวโดยลำพัง โจทก์ที่ 1 ไม่ได้อยู่ด้วยขณะทำสัญญา ทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.1 ไม่ใช่ของนายขจรเดช แต่เป็นของโจทก์ที่ 1 เหตุที่ตกลงไปเช่นนั้นเพราะสับสนเนื่องจากโจทก์ที่ 2 มีที่ดินอีกสามแปลงอยู่ติดกับที่ดินพิพาท เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินอีกสามแปลง โจทก์ที่ 2 เช่าที่ดินทั้งหมดมีกำหนด 25 ปี ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมแบ่งที่ดินออกเป็น 4 แปลง แล้วแบ่งขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 อีกสามแปลงขายให้โจทก์ที่ 2 หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 2 ไปติดต่อกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจะดำเนินการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1.1 จึงทราบว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังมีนางสาววรนุช นายชนัฐ นายแม้ และนายสมพล มาเป็นพยานสนับสนุนว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 และให้นายขจรเดชอยู่อาศัย ส่วนจำเลยทั้งสามมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับนายขจรเดชอยู่กินฉันสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 นายขจรเดชกับจำเลยที่ 1 ตกลงร่วมกันทำธุรกิจเปิดร้านขจรกลการ (2001) จำหน่ายติดตั้งกระจกรถยนต์ แอร์รถยนต์และพิล์มกรองแสงรถยนต์ ตั้งอยู่บนที่ดินและตึกแถวพิพาท เมื่อประมาณปี 2536 นายขจรเดชกับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ที่ 2 สร้างจำนวน 1 คูหา ในราคา 5,000,000 บาท โดยวางมัดจำแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อนำเงินไปก่อสร้างตึกแถว ที่เหลือผ่อนชำระประมาณเดือนละ 100,000 บาท เป็นเวลา 2 ปีเศษ ต่อมาต้นปี 2537 ตึกแถวพิพาทสร้างเสร็จและส่งมอบให้จำเลยที่ 1 และนายขจรเดช แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขอผัดผ่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทเนื่องจากติดจำนองกับธนาคารจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขอทะเบียนบ้านตึกแถวพิพาทในฐานะผู้ซื้อ โดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้าน จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระภาษีโรงเรือนเป็นผู้ขอไฟฟ้าและน้ำประปาตึกแถวพิพาท เมื่อนายขจรเดชถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนายขจรเดช แต่โจทก์ที่ 3 มีพฤติการณ์ไม่น่าวางใจและผ่านพ้นไปสามปีจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอถอนโจทก์ที่ 3 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และยื่นฟ้องเป็นคดีอาญากล่าวหาว่ามีการยักยอกทรัพย์มรดก ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 3 ยื่นคัดค้านการขอถอนผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 1.1 ระบุว่า โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 โอนที่ดินและตึกพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เนื่องจากเป็นทรัพย์มรดกโดยจำเลยที่ 1 กับนายขจรเดชร่วมกันทำมาหาได้ซื้อมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และนายสมชาย มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้เรียงสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 3 และในฐานะส่วนตัวตกลงทำสัญญาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายขจรเดช และยังเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า โจทก์ที่ 2 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าได้ตกลงขายทรัพย์ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 1.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 และนายขจรเดช จึงเขียนสัญญาตามที่ปรากฏในข้อ 1.1 เห็นว่า การตกลงซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาแม้ไม่ปรากฏว่ามีทำหลักฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกพิพาทเป็นหนังสือ หรือทำหลักฐานการวางมัดจำเป็นเงิน 2,000,000 บาท หรือหลักฐานผ่อนชำระค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้ แต่จำเลยที่ 1 ก็เบิกความให้เหตุผลส่วนนี้ในการตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า เนื่องจากเป็นญาติ และไว้ใจกัน จึงไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นพี่สาวจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นพี่ชายนายขจรเดชและนายขจรเดชยังเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีรวมชัยอะไหล่ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แสดงว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้องที่สนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจกันมาก่อน ย่อมเป็นไปได้ที่จะไม่ทำหลักฐานดังกล่าวกันไว้เนื่องจากไว้ใจกันตามที่จำเลยที่ 1 ให้เหตุผลมา ประกอบกับการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างตึกแถวสามคูหาบนที่ดินพิพาทแล้วให้นายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ครอบครองตึกดังกล่าว 1 คูหาแยกต่างหากจากตึกแถวที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ครอบครอง มาดำเนินเปิดร้านขจรกลการ (2001) อันเป็นกิจการของนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ทั้งนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ขอทะเบียนบ้านตึกแถวตามสำเนาทะเบียน และเป็นผู้เสียภาษีโรงเรือน เป็นผู้ยื่นขอไฟฟ้าและประปาในตึกแถวพิพาท อันมีลักษณะบ่งชี้ว่านายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ครอบครอง นอกจากนี้ยังได้ความจากคดีจัดการมรดกของนายขจรเดชที่โจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนโจทก์ที่ 3 จากการเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 3 มายื่นคำร้องคัดค้าน ศาลไกล่เกลี่ยแล้ว โจทก์ที่ 2 ฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 3 และฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1 และข้อ 1.1 โดยยอมรับว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ส่วนนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 เป็นสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวย่อมทราบดีว่าเป็นของผู้ใด ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ระบุรายละเอียดของที่ดินและตึกแถวพิพาทอย่างชัดเจนว่าตึกแถวเลขที่เท่าใดและที่ดินโฉนดเลขที่เท่าใด ตั้งอยู่ที่ไหน ย่อมไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์ที่ 2 จะสับสนเกี่ยวกับที่ดินเนื่องจากมีที่ดินอีกสามแปลงตามที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างมา เมื่อโจทก์ที่ 2 ยอมรับเช่นนั้นย่อมบ่งชี้ชัดว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีการตกลงขายที่ดินและตึกพิพาทให้นายขจรเดชและจำเลยที่ 1 โดยมีการชำระมัดจำและผ่อนชำระค่าที่ดินกันแล้วตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมา มิฉะนั้นโจทก์ที่ 2 คงไม่กล้าที่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระบุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จะฟ้องร้องบังคับกันได้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักแก่การให้รับฟังได้ ส่วนพยานหลักฐานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็มีเพียงพยานบุคคลซึ่งส่วนมากจะเป็นบุตรและญาติของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ย่อมเบิกความช่วยเหลือกันไปทำนองเดียวกันได้ จึงมีน้ำหนักน้อยแก่การรับฟัง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามจึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่นายขจรเดชและจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 และบริวารอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทหาใช่เป็นการอาศัยโจทก์ที่ 1 ตามที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างไม่ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาทได้ เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทกับโจทก์ที่ 2 สามีทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้นายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 สามารถฟ้องร้องบังคับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทได้ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.1 กำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนายขจรเดชและจำเลยที่ 1 ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในสำนวนที่สองขอให้ยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความและให้จำเลยทั้งสามคืนทรัพย์มรดกของนายขจรเดชที่ครอบครองไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดเลขที่ 55605 ส่วนที่เป็นตึกแถวเลขที่ 24/83 เป็นการเกินคำขอท้ายฟ้องสำนวนที่สองนั้น ปรากฏว่าคำขอท้ายฟ้องสำนวนที่สองของจำเลยทั้งสามขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นตึกแถวเลขที่ 24/83 เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ที่ 3 จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดเลขที่ 55605 ส่วนที่เป็นตึกแถวเลขที่ 24/83 ด้วย จึงเป็นการเกินคำขอในสำนวนที่สองของจำเลยทั้งสามเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
สำหรับที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบุพการีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้องโจทก์ที่ 3 จึงเป็นคดีอุทลุมนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 3 ออกจากสารบบความแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นนี้อีกต่อไป จึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 44647 และ 44648 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อที่ 1.4 จึงไม่อาจบังคับให้โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น แม้จะได้ความจากสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวท้ายคำร้องของจำเลยทั้งสามในการคัดค้านการขอทุเลาการบังคับคดีในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วก็ตาม แต่หาเป็นการปฏิบัติให้ตรงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำขอท้ายฟ้องของจำเลยทั้งสามในสำนวนที่สองที่โอนที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 ไม่ จึงไม่อาจถือว่ามีการปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว อย่างไรก็ตามปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 44648 และ 44649 มีชื่อนายขจรเดชเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อนายขจรเดชถึงแก่ความตายย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายขจรเดชจะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่ความตายระหว่างฎีกา จึงไม่สามารถบังคับโจทก์ที่ 3 ได้ คงได้แต่อาศัยคำพิพากษาศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์ที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องในสำนวนที่สองเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 55605 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ส่วนที่เป็นตึกแถวเลขที่ 24/83 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เนื้อที่กว้าง 8.20 เมตร ยาว 33 เมตร และให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์ที่ 3 ในการจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 44647 และ 44648 ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share