คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการจะร้องขอใช้สิทธิทางศาลได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้เท่านั้น การร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเพราะผู้ให้ความยินยอมใช้สูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านปลอมมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่มิได้บัญญัติ ให้อำนาจแก่พนักงานอัยการไว้ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจ ยื่นคำร้องต่อศาล

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่า นาย ย. และนาง ม. สามีภริยาสัญชาติเดนมาร์คได้ยื่นคำร้องต่อผู้ช่วยหัวหน้าเขตพญาไทขอจดทะเบียนรับเด็กหญิง พ.เป็นบุตรบุญธรรมในการนี้มารดาของเด็กหญิง พ. ได้ยื่นสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อจึงได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้แก่นาย ย. และนาง ม. ต่อมาความปรากฏว่าสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวเป็นของปลอมจึงขอให้ศาลมีคำสั่งถอนทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าว

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 55 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามบทกฎหมายดังกล่าว บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ต้องมีบทกฎหมายสนับสนุนให้เสนอคำร้องต่อศาลได้ แต่ในกรณีนี้ผู้ร้องเป็นพนักงานอัยการซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 5(1)บัญญัติว่า “ข้าราชการอัยการคือข้าราชการผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ”ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นพนักงานอัยการจะร้องขอใช้สิทธิทางศาลได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจและหน้าที่เท่านั้น การร้องขอให้เพิกถอนการขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเพราะผู้ให้ความยินยอมใช้สูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านปลอมมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่มิได้บัญญัติให้อำนาจแก่พนักงานอัยการไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยให้ยกคำร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share