คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินบางส่วนตามโฉนดที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองนั้น แม้โฉนดที่ดินอยู่ที่จำเลยโจทก์ก็จะขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อไปจดทะเบียนสิทธิหาได้ไม่ เพราะกรณีนี้ไม่มีนิติกรรม นิติเหตุ หรือบทกฎหมายใดที่กำหนดให้จำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ ทั้งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2497)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร โจทก์ย่อมสามารถที่จะปฏิบัติตามและได้รับผลตามความประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามคำสั่งของศาลแล้ว ขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อโอนทะเบียนเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การว่า โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่บุคคลหนึ่งจะมีสิทธิฟ้องร้องให้บุคคลหนึ่งปฏิบัติการชำระหนี้ กล่าวคือ กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตน บุคคลนั้นจะต้องเป็นเจ้าหนี้ และบุคคลที่ถูกเรียกร้องจะต้องเป็นลูกหนี้ ซึ่งอาจจะเกิดอำนาจแห่งมูลหนี้มาจากนิติกรรมละเมิด และอื่น ๆ แต่กรณีนี้หาได้มีนิติกรรมหรือนิติเหตุหรือบทบัญญัติกฎหมายใดที่จำเลยจะต้องส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ ส่วนที่ศาลได้มีคำสั่งว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 2 ไร่ อันเป็นที่ดินบางส่วนที่อยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวและโจทก์จะต้องจดทะเบียนสิทธิของโจทก์นั้น ก็มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร กล่าวคือ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งกำหนดไว้โดยละเอียดแล้วว่ากรณีใดจะต้องทำอย่างไร ซึ่งโจทก์ย่อมสามารถที่จะปฏิบัติตามและได้รับผลตามความประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว โดยเพียงแต่ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุด แสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยส่งมอบโฉนดดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share