คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นแบบแสดงรายการขอชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลโดยขอผ่อนเป็น 3 งวด งวดแรกชำระเป็นเงินสด งวดที่ 2 และที่ 3 จำเลยสั่งจ่ายเช็ครวม 2 ฉบับล่วงหน้ามอบให้แก่โจทก์การสั่งจ่ายเช็คของจำเลยจึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระด้วยเงิน มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับและจำเลยไม่เคยนำเงินตามเช็คทั้งสองฉบับไปชำระให้แก่โจทก์เลย มูลหนี้ซึ่งเป็นค่าภาษีอากรจึงยังไม่ระงับสิ้นไปโจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้เดิมได้และเนื่องจากมูลหนี้เดิมเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร จึงอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7(4)โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 เมื่อมีการชำระหนี้ด้วยเช็คแทนการชำระหนี้ด้วยเงินแล้วจะเป็นกี่ครั้งก็ตาม ถ้ายังไม่มีการใช้เงินตามเช็คเหล่านั้น หรือแม้จะมีการชำระเป็นบางส่วน หนี้เดิมก็ยังไม่ระงับสิ้นไป
จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าภาษีอากรงวดที่ 2 และงวดที่ 3ลงวันที่ล่วงหน้าไว้ในภายในเดือนพฤศจิกายน 2528 เมื่อเช็คทั้งสองงวดถึงกำหนดสั่งจ่ายธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองงวดนั้น โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าภาษีอากรภายในเดือนพฤศจิกายน 2528 จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ในการชำระเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528จนถึงชำระเสร็จ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการขยายเวลายื่นรายการการชำระหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรข้อ 8 วรรคสอง
พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ.2497 มาตรา 12(1) ให้อำนาจเทศบาลออกเทศบัญญัติเรียกเก็บภาษีบำรุงเทศบาลจากภาษีการค้าที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรโดยเรียกเก็บเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีการค้า หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษีบำรุงเทศบาลไม่นำเงินภาษีบำรุงเทศบาลไปชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบหรือที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลังถือว่าผู้นั้นผิดนัด ต้องเสียเงินเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรเพื่อเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลประจำเดือนพฤศจิกายน 2527 เป็นเงินทั้งสิ้น 770,770 บาท โดยขอผ่อนชำระเป็น 3 งวด ทั้งนี้ โดยอาศัยสิทธิตามประกาศของกระทรวงการคลังในงวดแรกจำเลยได้ชำระให้โจทก์แล้วในวันที่ 30 กันยายน 2528จำนวน 70,770 บาท งวดที่ 2 จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่าจะชำระในวันที่ 30 ตุลาคม 2528 เป็นเงิน 203,000 บาท และงวดที่ 3 จะชำระในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 เป็นเงิน 515,000 บาท โดยได้ออกเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด รวม 2 ฉบับ จำเลยที่ 2 ได้ตกลงเข้าทำสัญญาค้ำประกัน ครั้นต่อมาเมื่อเช็คทั้ง 2 ฉบับ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามแต่จำเลยทั้งสองก็ไม่นำเงินมาชำระ ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากประกาศกระทรวงการคลัง และต้องรับผิดชดใช้เงินค่าภาษีการค้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2527 ที่จะต้องชำระในงวดที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ต้องชำระดังกล่าวตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรนั้นตั้งแต่วันที่16 ธันวาคม 2527 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 19 เดือน คิดเป็นเงิน 57,000บาท และค่าภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีอีกเป็นเงิน 5,700 บาท รวมเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 262,700 บาทเงินค่าภาษีการค้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2527 ที่จะต้องชำระในงวดที่ 3 จำนวน 500,000 บาทจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือน นับตั้งแต่วันท่ 16 ธันวาคม 2527 จนถึงวันฟ้องรวม 19 เดือนเช่นกัน เป็นเงิน 142,500 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพ่ม คิดเป็นเงิน 14,250 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีทั้งสิ้น 656,750 บาท เมื่อรวมค่าภาษีทั้ง 2 งวดที่ค้างดังกล่าวแล้วข้างต้นจำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้กับโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 919,450 บาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือแทนจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 919,450 บาท แก่โจทก์ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงิน 700,000 บาทเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่จำเลยต้องชำระดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำความตกลงกับโจทก์เรื่องภาษีอากรค้างชำระและได้ออกเช็คชำระเงินให้ตามงวดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2528 และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 ตามลำดับโจทก์หรือผู้ทำการแทนของโจทก์ได้ออกใบรับให้จำเลยที่ 1รับไว้ ครั้นต่อมาปรากฏว่าธนาคารตามเช็คทั้ง 2 ฉบับ ปฏิเสธการจ่ายเงิน กรณีจึงเป็นเรื่องผิดนัดในส่วนแพ่งเรื่องตั๋วเงินและการที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เป็นการค้ำประกันหนี้เงินที่ต้องชำระตามงวดจำเลยที่ 2ไม่ใช่เป็นผู้เสียภาษีไม่มีเจตนาค้ำประกันเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อกรณีเป็นมูลหนี้เรื่องตั๋วเงินไม่ใช่เป็นเรื่องภาษีอากรโจทก์จึงไม่สามารถเรียกเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ยังศาลภาษีอากรกลาง เพราะเป็นคดีแพ่งเรื่องตั๋วเงินไม่ใช่คดีเกี่ยวเนื่องกับภาษีอากรตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและเป็นคดีอยู่นอกเขตอำนาจของศาลนี้ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและในระหว่างการพิจารณาของศาลโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายผ่อนชำระค่าภาษีการค้า งวดที่ 2 และที่ 3 ให้แก่โจทก์จึงไม่ทำให้หนี้ค่าภาษีการค้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามกฎหมายนั้นระงับสิ้นไป มูลหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรและข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากรคดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง ตามมาตรา 7 (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ และหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ชำระเงินค่าภาษีการค้างวดที่ 2 และที่ 3ทั้งที่โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดใช้เงินค่าภาษีที่ค้างพร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน718,000 บาทและยังต้องรับผิดชำระหนี้เบี้ยปรับเนื่องจากผิดนัดไม่ชำระเงินค่าภาษีที่ยังเหลือเป็นเงิน 700,000 บาทโดยต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 1.5 ของต้นเงินดังกล่าวอีกตามมาตรา 89 ทวิ วรรคท้ายแห่งประมวลรัษฎากร จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มนับถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 919,450 บาทกับให้ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ของต้นเงินที่ค้างชำระ700,000 บาท และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่จำเลยต้องชำระดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องเสียตามมาตรา89 ทวิ วรรคท้าย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ในปัญหาที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าเมื่อหนี้เดิมเป็นหนี้ภาษีอากรได้ระงับไปแล้วด้วยการแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้ตามตั๋วเงินโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรรวมทั้งเงินเพิ่ม และเบี้ยปรับใด ๆ จากจำเลยอีก และคดีก็ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลภาษีอากรกลางนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการขอชำระภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น770,770 บาท เอกสารหมาย จ.3 และขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายเวลายื่นรายการ การชำระหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ข้อ 7 ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม2528 เอกสารหมาย จ.2 และ จ.1 จำเลยที่ 1 ได้ชำระภาษีงวดแรกจำนวนเงิน 70,770 บาทแก่โจทก์แล้วส่วนงวดที่ 2 และที่ 3จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด 2 ฉบับจำนวนเงิน 203,000 บาท และจำนวนเงิน 515,000 บาท ตามลำดับลงวันที่ล่วงหน้าตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 มอบให้แก่โจทก์ไว้เพื่อชำระค่าภาษีทั้งสองงวดดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คทั้งสองฉบับนั้นเป็นค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 มอบให้โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นแปลงหนี้ใหม่ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ และการชำระหนี้ด้วยเช็คแทนการชำระหนี้ด้วยเงินนั้นต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมายจ.5 และ จ.7 ทั้งสองฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินตามเช็คทั้งสองฉบับไปชำระให้แก่โจทก์เลย มูลหนี้ซึ่งเป็นค่าภาษีอากรจึงยังไม่ระงับสิ้นไป โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้เดิมได้และเนื่องจากมูลหนี้เดิมเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร จึงอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลางได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 ต้องเป็นเรื่องที่ชำระด้วยตั๋วเงินเพียงครั้งเดียว ถ้ามีการชำระหนี้ด้วยเช็คหลายครั้งไม่อาจนำ มาตรา 321 มาปรับใช้ได้นั้น ตามมาตรา 321มิได้บัญญัติไว้ชัดเจนดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ดังนั้นเมื่อมีการชำระหนี้ด้วยเช็คแทนการชำระหนี้ด้วยเงินแล้วจะเป็นกี่ครั้งก็ตาม ถ้ายังไม่มีการใช้เงินตามเช็คเหล่านั้นหรือแม้จะมีการชำระเป็นบางส่วนแล้วหนี้เดิมก็ยังไม่ระงับสิ้นไป
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อมาว่า หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ควรชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 ตามประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมายจ.1 ข้อ 8 วรรค 1 มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันที่ค้างชำระค่าภาษีอากร ตามที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้นเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อ 8 ได้กำหนดว่า ‘การขอชำระภาษีอากรตามประกาศนี้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องของชำระหรือนำส่งภาษีอากรเป็นจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่ต้องชำระหรือนำส่งรวมกันทุกประเภททุกกรณี ตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไปจะขอผ่อนชำระเป็นงวดก็ได้โดยงวดแรกต้องชำระพร้อมกับยื่นแบบตามข้อ 7 และอย่างช้างวดสุดท้ายต้องชำระหรือนำส่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีอากรที่ต้องชำระหรือนำส่ง นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528จนถึงวันชำระเงิน………
ภาษีอากรที่ขอผ่อนชำระตามวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ชำระหรือนำส่งภายในกำหนดเวลาตามประกาศนี้ ให้หมดสิทธิตามประกาศนี้เฉพาะส่วนที่มิได้ชำระหรือนำส่งตามกำหนดเวลา’
ฉะนั้นผู้ที่ขอผ่อนชำระภาษีอากร นอกจากจะต้องชำระค่าภาษีอากรแล้วยังจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนด้วยและผู้ที่จะมีสิทธิเสียเงินเพิ่มในอัตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 จนถึงวันชำระเงินนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ชำระภาษีอากรงวดสุดท้ายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน2528 แต่ถ้ามิได้ชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดดังกล่าว ผู้นั้นก็หมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ในการชำระเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 จนถึงวันชำระเงินตามวรรคสองในกรณีของจำเลยที่ 1 ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะออกเช็คสั่งจ่ายเงินชำระค่าภาษีอากรงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ลงวันที่ล่วงหน้าไว้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2528 ก็ตามแต่เมื่อเช็คทั้งสองงวดถึงกำหนดสั่งจ่าย ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองงวดนั้นโจทก์ไม่ได้รับเงินค่าภาษีอากรภายในเดือนพฤศจิกายน 2528จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ในการชำระเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 จนถึงวันชำระเงินเสร็จตามวรรคสองของประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินเพิ่มนับแต่วันที่16 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยที่1 มีสิทธิยื่นแบบแสดงรายการขอชำระภาษีอากรประจำเดือนพฤศจิกายน 2527 จึงเป็นการชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มจากเงินค้างค่าภาษีบำรุงเทศบาล เพราะเงินภาษีบำรุงเทศบาลต้องเรียกเก็บตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตรา 12 (1)ซึ่งให้เรียกเก็บร้อยละสิบของภาษีการค้า มิได้รวมถึงการเรียกเก็บร้อยละสิบของเงินเพิ่มของภาษีการค้าด้วย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89, 89 ทวิ ก็ให้อำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มของภาษีการค้าเท่านั้นมิได้ให้อำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มจากภาษีบำรุงเทศบาลจึงทำให้การคำนวณภาษีอากรคลาดเคลื่อนไปนั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 มาตรา 12 (1)เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเทศบาลออกเทศบัญญัติเรียกเก็บภาษีบำรุงเทศบาลจากภาษีการค้าที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรโดยเรียกเก็ยเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีการค้า ฉะนั้นในการเรียกเก็บภาษีการค้าทุกครั้งจะต้องเรียกเก็บภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละสิบของภาษีการค้าทุกครั้งเช่นเดียวกันหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าภาษีบำรุงเทศบาลเป็นส่วนหนึ่งของภาษีการค้าเมื่อคำนวณภาษีบำรุงเทศบาลโดยวิธีการดังกล่าวแล้ว ผลที่คำนวณได้ตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาลมาตรา 14 ให้ถือว่าเป็นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นหากผู้มีหน้าที่ชำระภาษีบำรุงเทศบาลไม่นำเงินภาษีบำรุงเทศบาลไปชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบหรือที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลังถือว่าผู้นั้นผิดนัดต้องเสียเงินเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฏากรจึงเห็นได้ชัดว่า เรียกเงินเพิ่มจากเงินค้างค่าภาษีบำรุงเทศบาลได้ ส่วนการคำนวณภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคลาดเคลื่อนนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระภาษีอากรอยู่ 2 รายการคือภาษีการค้าเป็นเงิน 700,700 บาทและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน70,070 บาท รวมแล้วเป็นเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระทั้งสิ้น 770,770 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระภาษีอากรงวดแรกไปแล้วเป็นเงิน 70,770 บาท จึงเหลือเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 700,000 บาท เมื่อจำเลยท่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินภาษีอากรค้างชำระดังกล่าว จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ คือ 700,000 บาทนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2527 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มตามฟ้องโจทก์จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.

Share