แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ระบุว่าผู้กู้หรือจำเลยยอมเสียดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ให้กู้หรือโจทก์เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญา ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ หรือตามหนังสือสัญญาจำนองก็ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เช่นเดียวกัน ดังนั้น นับแต่วันแรกที่จำเลยรับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ โจทก์ก็สามารถคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากจำเลยได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ จำเลยผิดนัดภายใต้การควบคุมหรือตามประกาศกระทรวงการคลัง จึงไม่ต้องด้วยข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของเบี้ยปรับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ที่กำหนด ให้ลูกหนี้หรือจำเลยใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตน ไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราขั้นต่ำแก่จำเลยในระยะเริ่มแรก แล้วค่อย ๆ ปรับให้สูงขึ้นถือเป็นการให้ความอนุเคราะห์แก่ ลูกค้า ซึ่งไม่อาจแปลข้อกำหนดในเรื่องอัตราดอกเบี้ยธรรมดา ทั่ว ๆ ไปให้กลายเป็นเบี้ยปรับอันอาจก่อให้เกิดเป็นโทษ แก่โจทก์ได้ จึงไม่ควรที่จะลดดอกเบี้ยของโจทก์ลงเหลืออัตรา ร้อยละ 17 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 436,679.97 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 386,821.77 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองหรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน436,679.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีของต้นเงิน 386,821.77 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ยอมชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3562 ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยตอนแรกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปีแต่ครั้นจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์จึงค่อย ๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยจนถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้โจทก์อาจคิดจากจำเลยผู้กู้ยืมได้นั้น เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ย่อหน้าที่สองระบุไว้ความว่า ผู้กู้หรือจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้หรือโจทก์เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ หรือตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 ก็ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เช่นเดียวกัน ฉะนั้น นับแต่วันแรกที่จำเลยรับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ โจทก์ก็สามารถคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากจำเลยได้ทันทีโดยมิพักต้องรอให้จำเลยผิดนัดภายใต้การควบคุมหรือตามประกาศกระทรวงการคลัง รูปเรื่องจึงไม่ต้องด้วยข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ที่กำหนดให้ลูกหนี้หรือจำเลยใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราขั้นต่ำแก่จำเลยในระยะเริ่มแรกแล้วค่อย ๆ ปรับให้สูงขึ้นเมื่อเห็นจำเลยไม่มีความจริงใจในการชำระหนี้ โดยไม่คิดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ทันทีตามที่โจทก์อาจคิดได้ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีในอันที่โจทก์จะพึงให้ความอนุเคราะห์แก่ลูกค้าหรือจำเลยในเรื่องที่อยู่อาศัย จึงไม่น่าที่จะแปลเจตนาดีของโจทก์จากข้อกำหนดในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามธรรมดาทั่ว ๆ ไปให้กลายเป็นเบี้ยปรับอันอาจก่อให้เกิดเป็นโทษแก่โจทก์ได้กรณีนับเป็นสิ่งไม่ควรที่จะลดดอกเบี้ยของโจทก์ลงเหลืออัตราร้อยละ 17 ต่อปี ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 436,679.97 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่มิให้เกินอัตราสูงสุดตามที่กระทรวงการคลังกำหนดของต้นเงิน 386,821.77 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น