คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สินค้าพิพาทที่โจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันไม่อาจจัดเข้าประเภทพิกัดใดได้โดยชัดแจ้ง จะต้องตีความโดยจัดเข้าประเภทเดียวกับของซึ่งใกล้เคียงกับของชนิดนั้นมากที่สุด ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 แห่ง พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากรฯ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการเพื่อขอรับสินค้าอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์และเทปบันทึกภาพที่ใช้กับสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นของต้องจำกัดหรือของต้องห้ามเกี่ยวกับสินค้าอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์ จำเลยได้สำแดงราคาสินค้าเป็นเงิน7,246,650 บาท ประเภทพิกัด 85.15 ก. ส่วนเทปบันทึกภาพที่ใช้กับสถานีโทรทัศน์ จำเลยได้สำแดงราคาเป็นเงิน 317,000 บาทประเภทพิกัดที่ 92.12 ข. เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสินค้าดังกล่าวเห็นว่ายังไม่มีราคาท้องตลาดเทียบเคียงเพื่อประเมินอากรในขณะนั้นได้ จึงสั่งให้จำเลยวางเงินประกันค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยปฏิบัติตามแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานกองพิกัดอัตราศุลกากรของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า เฉพาะสินค้าเครื่องบันทึกภาพโทรทัศน์ตามใบขนสินค้าลำดับที่ 1 จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 92.11 มิใช่สินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 85.15 ก. จำเลยต้องเสียอากรขาเข้า และภาษีการค้าเพิ่มขึ้นเมื่อนำเงินค่าอากรที่จำเลยชำระไว้แล้วหักออก จำเลยยังต้องชำระเงินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงินภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มทั้งสิ้น 4,366,487.07 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยไปทำความตกลงเพื่อระงับคดีชั้นศุลกากรโดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 7,976,315 บาท และให้ชำระเงินค่าภาษีอากรที่เพิ่มพร้อมเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีการค้าที่เพิ่มให้ครบถ้วน จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ที่ 1ที่ให้จำเลยเสียภาษีอากรในพิกัดประเภทที่ 92.11 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้พิจารณาแล้วสั่งว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้านั้นจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 92.11 กับให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มเติม จำเลยทราบแล้วไม่นำเงินไปชำระในกำหนด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาลและเงินเพิ่มต่าง ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 10,327,237.14บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน10,327,237.14 บาท แก่โจทก์กับให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า3,985,657.50 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการรับส่งวิทยุโทรทัศน์แพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า สำหรับสินค้าเครื่องบันทึกภาพและเสียงที่ใช้กับเครื่องส่งโทรทัศน์โดยเฉพาะ พร้อมทั้งชุดเครื่องอุปกรณ์ซึ่งเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 85.15 ก. เพราะเป็นการนำเข้ามาครบชุดสมบูรณ์ร่วมกับเครื่องโทรทัศน์ และนำเข้ามาเพื่อใช้กับเครื่องส่งโทรทัศน์โดยเฉพาะ เจ้าพนักงานกองพิกัดอัตราศุลกากรของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งว่าสินค้าดังกล่าวข้างต้นจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 92.11 และเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1ได้ประเมินให้จำเลยชำระเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล เพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม จำเลยไม่เห็นด้วย จึงได้อุทธรณ์ต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 ได้ยกอุทธรณ์ของจำเลย ส่วนโจทก์ที่ 2นั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ชี้ขาดว่าเครื่องบันทึกภาพและเสียงเข้าลักษณะเป็นสินค้าตามประเภทพิกัดที่ 85.15 ก. การที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าสินค้ารายพิพาทจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 92.11 และให้จำเลยชำระเงินภาษีอากร กับให้ชำระเงินเพิ่มนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงกับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2522 จำเลยได้นำเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์พร้อมอุปกรณ์ยี่ห้อแอมเพ็ค รวม 5 เครื่อง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา จากเมืองฮ่องกง เข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 85.15 ก. ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ปัญหาตามที่โจทก์อุทธรณ์คงมีเพียงว่า สินค้าพิพาทดังกล่าวจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทที่ 92.11 ตามฟ้องโจทก์หรือประเภทที่ 85.15 ก. ตามคำให้การจำเลย ในปัญหาข้อนี้ตามพระราชกำหนดว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2503 สินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 85.15 ก.ได้แก่ เครื่องวิทยุโทรเลข เครื่องวิทยุโทรศัพท์ เครื่องส่งวิทยุเครื่องส่งโทรทัศน์ และกล้องถ่ายโทรทัศน์ส่วนสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 92.11 ได้แก่ หีบเสียง เครื่องสั่งงานเครื่องบันทึกเสียง และเครื่องเปล่งเสียง (เซานด์รีโปรดิวเซอร์)อย่างอื่น รวมทั้งเครื่องเล่นจานเสียงและเครื่องม้วนเทปอัดเสียงจะมีหัวเข็ม (เซานด์เฮด) ด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่าสินค้าพิพาทคดีนี้ คู่ความยังโต้เถียงกันไม่อาจจัดเข้าประเภทพิกัดใดได้โดยชัดแจ้ง จึงต้องตีความโดยอาศัยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2503 กล่าวคือ ต้องตีความโดยจัดเข้าประเภทเดียวกับของซึ่งใกล้เคียงกับของชนิดนั้นมากที่สุด ตามรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลเพื่อตรวจดูสินค้าพิพาท ปรากฏว่าได้มีการสาธิตให้ศาลดูการทำงานของสินค้าพิพาทและช่างเทคนิคของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีได้อธิบายถึงระบบการทำงานของสินค้าพิพาทว่าเป็นเครื่องบันทึกภาพและเสียง การทำงานของเครื่องจะต้องประกอบเข้ากับเครื่องส่งเพื่อออกอากาศ โดยมีสายภาพและสายเสียงเชื่อมต่อโยงกันหากไม่มีเครื่องส่งก็ไม่สามารถจะแพร่ภาพทางโทรทัศน์ได้ ดังนี้ สินค้าที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์ที่บันทึกได้ทั้งภาพและเสียง ซึ่งจะต้องประกอบเข้ากับเครื่องส่งจึงจะแพร่ภาพออกอากาศได้ แสดงว่าเป็นสินค้าที่มุ่งหมายที่จะใช้ในกิจการโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว จึงมีลักษณะแตกต่างกับสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 92.11 อย่างเห็นได้ชัด เพราะสินค้าตามพิกัดดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทเครื่องเสียงแต่เพียงอย่างเดียวนำไปใช้เกี่ยวกับการบันทึกและแพร่ภาพไม่ได้เลยสินค้าพิพาทนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ก็ได้วินิจฉัยว่าเข้าลักษณะเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทที่ 85.15 ก.จึงสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่า สินค้าพิพาทเป็นเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์ที่บันทึกได้ทั้งภาพและเสียง ถือว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบของเครื่องส่งโทรทัศน์ทำหน้าที่อย่างเดียวกับกล้องถ่ายโทรทัศน์และเป็นอุปกรณ์ของเครื่องส่งโทรทัศน์ ทั้งยังมุ่งหมายที่จะใช้ในกิจการสื่อสาร และโทรคมนาคมเช่นเดียวกับสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทที่ 85.15 ก. จึงสมควรจัดสินค้าพิพาทเข้าอยู่ในพิกัดนี้…”
พิพากษายืน.

Share