คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้เจ้าของมีสิทธิโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้กับบุคคลใด ก็ได้ และที่สัญญามิได้ระบุกำหนดให้ ทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตาม ที่กำหนดไว้ในสัญญาหาทำให้สัญญาเช่าซื้อกลายเป็นสัญญาอย่างอื่นไปไม่ ข้อสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า “ถ้า ผู้ซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ก็ดี กระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี …ถือ ว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดย เจ้าของไม่ต้องบอกกล่าว …ถ้า เจ้าของขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไปแล้วยังไม่คุ้ม ราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตาม สัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน” ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญา และเป็นข้อตกลงยินยอมของคู่สัญญาย่อมใช้บังคับกันได้ ไม่มีกฎหมายห้าม ดังนี้ เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าสีเหลือง ไปจากโจทก์เป็นเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น 165,312 บาท จำเลยที่ 1 สัญญาจะชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เป็นงวด งวดละ 5,592 บาทภายในวันที่ 1 ของแต่ละเดือน รวม 36 เดือน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 44,424บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ แต่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์ผ่อนส่ง หรือสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 459 ให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เป็นเงิน 9,000 บาท และค่าติดตามรถยนต์คืน 500บาท พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 9,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ในปัญหาที่ว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.4เป็นสัญญาเช่าซื้อหรือไม่นั้น ปรากฏตามสัญญาดังกล่าวระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “เจ้าของ” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้เช่าซื้อ” มีข้อความตกลงเอาทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อ โดยตกลงราคาเป็นเงิน 165,312 บาท กำหนดผ่อนชำระรวม 36 งวด งวดละ 4,592 บาท และมีข้อ 10 กำหนดว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีเจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของ โดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง ยอมให้เจ้าของหรือผู้แทนเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์ได้ ถ้าเจ้าของต้องเสียค่าติดตามทรัพย์ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้คืนให้ หรือต้องส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง และเมื่อมีการเลิกสัญญาในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินให้ริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วเป็นของเจ้าของทรัพย์ อันเป็นวิธีของสัญญาเช่าซื้อตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572, มาตรา 573 และมาตรา 574ดังนี้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าซื้อ ที่สัญญากำหนดให้เจ้าของมีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้กับบุคคลใดก็ได้ และที่สัญญามิได้ระบุกำหนดให้ทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หาทำให้สัญญาเช่าซื้อกลายเป็นสัญญาอื่นไปไม่
ในปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้รถยนต์ที่ จำเลยที่ 1เช่าซื้อไปแล้ว โจทก์นำมาขายไม่คุ้มกับราคาที่เช่าซื้อตามสัญญาหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 10 ระบุว่า”ถ้าผู้ซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี กระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี… ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าว… ถ้าเจ้าของขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน” ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญา และเป็นข้อตกลงยินยอมของคู่สัญญาย่อมใช้บังคับกันได้ไม่มีกฎหมายห้าม และศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ… การที่โจทก์ขอค่าเสียหายมาทั้งสิ้นเพียง 44,424 บาท จึงเป็นค่าเสียหายที่พอสมควร”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 44,424 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย.

Share