คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาแทนเด็กจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)(เดิม) เมื่อบิดาโจทก์ทำสัญญาแทนโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์ จำเลยขับรถโดยประมาทชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยได้ทำหนังสือไว้กับบิดาโจทก์ว่าจะยอมชดใช้ค่าทำขวัญแก่โจทก์ 4,000 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจนกว่าโจทก์จะหายเป็นปกติ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 30,393 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ขับรถโดยประมาท จำเลยได้ชำระค่าทำขวัญและค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์แล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน18,874 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระงับข้อพิพาทที่จำเลยขับรถยนต์ทับข้อเท้าโจทก์ โดยจำเลยยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ปัญหาเรื่องบิดาโจทก์จะมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหรือไม่นั้นเห็นว่าสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นนิติกรรมเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็ก ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาแทนเด็กจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1546(4)(เดิม) เมื่อบิดาโจทก์ทำสัญญาแทนโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์

ปัญหาเรื่องอายุความนั้น จำเลยฎีกาว่าการละเมิดที่มีมูลอันเป็นความผิดทางอาญาและใช้อายุความทางอาญานั้น จะต้องปรากฏว่าความผิดทางอาญานั้นได้เกิดขึ้นจริงโดยการร้องทุกข์ ตลอดจนมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญา แต่คดีนี้มิได้มีการร้องทุกข์และฟ้องร้องจำเลยในทางอาญาแต่อย่างใด จึงจะนำอายุความทางอาญามาใช้บังคับไม่ได้

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา จึงต้องนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ขับรถโดยประมาท

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share