คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140(3)บัญญัติแต่เพียงว่าให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยมิได้บังคับว่าต้องอ่านต่อหน้าคู่ความทุกฝ่ายเสมอไป ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลครั้งแรกซึ่งศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งห้าทราบโดยวิธีปิดหมายนั้นไม่มีคู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดการอ่านโดยถือว่าได้อ่านให้คู่ความฟังแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงเพิ่งปรากฏในภายหลังตามคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า การปิดหมายแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นย่อมชอบที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2ฟังใหม่ โดยไม่จำต้องอ่านให้โจทก์และจำเลยอื่นฟังอีก

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1และที่ 2 ศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแล้วปรากฏตามรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 และวันที่ 4 เมษายน 2533 ว่าเจ้าพนักงานนำหมายไปส่งให้แก่นายทวีศักดิ์ หงส์ทอง ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วไม่พบ พบหญิงอายุประมาณ 45 ปี แจ้งว่านายทวีศักดิ์ย้ายไปแล้ว จึงได้ปิดหมายไว้ ดังนั้น การส่งหมายดังกล่าวจึงไม่ชอบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ทราบวันนัดและถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2533 เมื่อจำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังในวันดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 140(3) บัญญัติว่า “การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้อ่านข้อความทั้งหมดในศาลโดยเปิดเผยตามเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ ต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง…”บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเพียงว่าให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยมิได้บังคับว่าต้องอ่านต่อหน้าคู่ความทุกฝ่ายเสมอไป ที่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังด้วยนั้นก็เพราะจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้ยื่นคำร้องขอเข้ามา จึงไม่มีประเด็นที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยสั่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2ฟังใหม่นั้นชอบแล้วและที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีนี้โจทก์ได้ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2533 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ทราบโดยชอบ จึงอ่านให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังใหม่ได้และไม่ทำให้คู่ความอื่นที่ถือว่าได้ฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้วเสียไปด้วยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความทุกฝ่ายฟังใหม่ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์และรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 13พฤศจิกายน 2533 ว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งงดการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความทุกฝ่ายฟังเพราะไม่มีคู่ความมาศาลเมื่อวันที่ 27เมษายน 2533 โดยปรากฏตามรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่15 กุมภาพันธ์ 2533 และวันที่ 4 เมษายน 2533 ว่ามีการปิดหมายให้จำเลยทั้งห้าไว้แล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายแล้ว ข้อเท็จจริงเพิ่งปรากฏภายหลังเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533ว่า การส่งหมายโดยวิธีปิดหมายดังกล่าวยังไม่ชอบเพราะเป็นการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้ย้ายไปก่อนปิดหมายแล้วก็ไม่ทำให้การอ่านคำพิพากษาโดยชอบเสียไปและที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เฉพาะทนายจำเลยที่ 1และที่ 2 ฟังใหม่จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ไม่จำต้องอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังอีก เพราะถือว่าคำพิพากษาได้อ่านตามกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2533 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share