แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นของสหกรณ์นิคมจัดสรรให้มารดาของโจทก์และจำเลยทำกินเนื่องจากมารดาของโจทก์และจำเลยชรามากและเจ็บป่วยไม่สะดวกที่จะเข้าประชุมได้ จึงให้จำเลยถือสิทธิแทน ดังนี้เมื่อมารดาตายสิทธิในที่พิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจะต้องตกเป็นของทายาทตามกฎหมายจำเลยเป็นเพียงผู้ถือสิทธิแทนทายาท กรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยและตกลงกันเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งการโอนด้วยการตกทอดโดยทางมรดกเป็นข้อยกเว้นตาม มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 อนุญาตให้ทำได้ สัญญาดังกล่าวหาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมายอันจะตกเป็นโมฆะไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องสิทธิครอบครองในที่ดินโฉนดเลขที่ 24284 จังหวัดสมุทรสาคร ของจำเลยซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินห้ามโอนมีกำหนด 5 ปี โจทก์จำเลยจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยยอมแบ่งที่ดินด้านทิศเหนือจำนวน25 ไร่ ให้โจทก์ จำเลยจะไปทำการจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทันทีที่พ้นกำหนดห้ามโอน หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยนำที่ดินไปจำนองธนาคาร เมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายแล้วโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท ส่วนที่อยู่ด้านทิศเหนือในเส้นหมายสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้โจทก์เป็นจำนวน 25 ไร่ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนนี้ให้โจทก์โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ต่อไป ให้จำเลยชำระหนี้จำนองที่จำเลยมีอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยไม่ชำระก็ขอให้เอาที่ดินส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกให้โจทก์และทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ดังกล่าวจนครบ
จำเลยให้การว่า การทำนิติกรรมโอนที่ดินระหว่างที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดห้ามโอนกรรมสิทธิ์เป็นการหลีกเลี่ยงข้อกำหนด จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยตกเป็นโมฆะนำมาฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทจำเลยได้รับสิทธิมาโดยสืบเนื่องจากนางผัดมารดาโจทก์และจำเลยมีความจำเป็นต้องให้จำเลยถือสิทธิแทนเพราะเหตุนางผัดชรามากและเจ็บป่วยไม่สะดวกที่จะเข้าประชุมได้การเข้าเป็นสมาชิกแทนนางผัดดังกล่าวนี้ปรากฏชัดแจ้งตามเอกสารหมาย จ.6 ทั้งยังมีสาระในการกำหนดระยะเวลาให้จำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ก่อน 5 ปี พร้อมกับหน้าที่ในการใช้หนี้สหกรณ์ให้หมดต่อจากนั้นกำหนดให้จำเลย โจทก์และนายเชื้อ บุญยิ่งยง พี่น้อง 3 คนสับเปลี่ยนกันทำนาคนละ 1 ปี ทั้งยังมีข้อกำหนดอีกด้วยว่า หากจำเลยจะโยกย้ายไปทำกินที่อื่น ก็ต้องโอนให้โจทก์รับช่วงเป็นสมาชิกแทนต่อสาระสำคัญตามเอกสารหมาย จ.6 นี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า ที่นางผัดให้จำเลยเข้าถือสิทธิในที่พิพาทก็ในฐานะแทนนางผัด เพื่อประโยชน์แก่บรรดาทายาทของนางผัด หาได้ยกให้ตกเป็นสิทธิของจำเลยเด็ดขาดเป็นส่วนตัวไม่ ดังนี้เมื่อนางผัดตายสิทธิในที่พิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจะต้องตกเป็นของทายาทตามกฎหมาย จำเลยเป็นเพียงผู้ถือสิทธิแทนทายาทของนางผัด กรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยและตกลงกันตามเอกสารหมายจ.8 แล้วสืบเนื่องมาเป็นสัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 ที่เป็นปัญหานี้เป็นข้อพิพาทและเป็นข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์มรดกของนางผัดระหว่างทายาทคือ โจทก์และจำเลย วัตถุประสงค์ตามเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งการโอนด้วยการตกทอดโดยทางมรดกเป็นข้อยกเว้นตาม มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 อนุญาตให้ทำได้ หาได้เป็นวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยต่อสู้ไม่
พิพากษากลับ ให้จำเลยจัดการไถ่ถอนจำนองแล้วแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 24284 ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร เฉพาะส่วนที่อยู่ทางด้านทิศเหนือตามเส้นหมายสีแดงแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้โจทก์เป็นจำนวน 25 ไร่ และโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย