คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองและ อ. เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแต่ อ.เป็นสามีจำเลยและมาเป็นพยานจำเลยซึ่งแสดงให้เห็นว่า อ. ไม่ต้องการฟ้องจำเลย ดังนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้โอนทรัพย์พิพาทกลับคืนแก่กองมรดกเพื่อจัดแบ่งให้เป็นไปตามพินัยกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 วรรคสอง (อ้างฎีกาที่ 1674/2516)
เมื่อเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้และตั้งผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรมด้วย การแบ่งมรดกของผู้ตายแก่ทายาทจะต้องกระทำโดยผู้จัดการมรดกและผู้จัดการมรดกก็จะต้องจัดการแบ่งมรดกตามที่ผู้ตายได้ระบุไว้ในพินัยกรรมด้วยถ้าการแบ่งมรดกแก่ทายาทมิได้เป็นการแบ่งโดยผู้จัดการมรดก และเป็นการแบ่งที่มิได้เป็นไปตามพินัยกรรม แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะจดทะเบียนลงชื่อจำเลยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกที่พิพาทแล้วโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ยังฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเสียได้ จำเลยต้องคืนให้แก่ผู้จัดการมรดกเพื่อจะนำไปจัดการแบ่งมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสิงห์ นางกราย กลิ่นสุนทร เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 9 คน นายสิงห์ได้เขียนคำสั่งเป็นหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม 2509 ยกทรัพย์ให้แก่บุตรและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ 3 คน นายสิงห์ได้ถึงแก่กรรม นางกรายภริยาไม่เข้าใจว่าคำสั่งของนายสิงห์ที่เขียนไว้เป็นพินัยกรรม แต่ก็ประสงค์จะยกทรัพย์ให้แก่บุตร ต่อมาบุตร 4 คน คือนางประสานสุข นางประสิทธิ์ศรี นางสาวทิพยวรรณ และจำเลย ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยองขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 243 เนื้อที่ประมาณ64 วา เจ้าพนักงานได้จัดการโอนใส่ชื่อให้แก่บุคคลทั้งสี่แล้ว โดยจำเลยได้รับโอนที่ดินไปเฉพาะส่วนมีเนื้อที่ประมาณ 16 ตารางวา ต่อมาได้มีการพิจารณาคำสั่งของนายสิงห์ที่เขียนไว้นั้นว่าเป็นพินัยกรรมหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเป็นพินัยกรรมนายอัมพรและโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกศาลจังหวัดระยองได้มีคำสั่งตั้งบุคคลทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกเห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 243 เป็นทรัพย์มรดกของนายสิงห์ แต่ที่ได้จัดการแบ่งปันให้แก่นางประสานสุข นางประสิทธิ์ศรี นางสาวทิพยวรรณและจำเลยไปนั้นไม่ตรงกับคำสั่งของเจ้ามรดก จึงได้แจ้งให้บุคคลที่รับโอนไปดังกล่าวทราบ และขอให้โอนกลับคืนแก่กองมรดกเพื่อจัดแบ่งให้เป็นไปตามพินัยกรรม ผู้รับโอนทุกคนยินยอม เว้นแต่จำเลยผู้เดียวไม่ยอมโอนคืนให้ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 243 ดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 16 ตารางวา พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ก่อนแบ่งกันได้มีการตกลงยินยอมกันในระหว่างทายาทของนายสิงห์แล้ว ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีสิทธินำเอาทรัพย์ที่ทายาทได้ตกลงแบ่งกันโดยชอบมาแบ่งอีก การฟ้องคดีนี้นายอัมพรผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งมิรู้เห็นเกี่ยวกับข้อที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้ จึงยังไม่มีเสียงข้างมากของผู้จัดการมรดก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการโอนที่ดินโฉนดที่ 243 เฉพาะส่วนของจำเลยพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่กองมรดกของนายสิงห์ หากจำเลยไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ในข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายอัมพรผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องด้วยนั้น ได้ความว่า โจทก์ทั้งสองและนายอัมพรเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม และนายอัมพรเป็นสามีจำเลย นายอัมพรได้มาเบิกความเป็นพยานจำเลยด้วยแต่ไม่ได้เบิกความว่าตนไม่ได้ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนี้ด้วยเพราะเหตุใด ได้ความจากจำเลยว่า ขณะที่จำเลยเบิกความนั้น จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์และทายาทอื่น ๆ นอกจากจำเลยก็ได้ฟ้องขอให้ศาลถอนนายอัมพรสามีจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่านายอัมพร ผู้จัดการมรดกร่วมอีกคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเป็นโจทก์ด้วย เพราะเป็นสามีจำเลย และเป็นพยานจำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายอัมพรไม่ต้องการฟ้องจำเลย ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 วรรคสอง ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1674/2516

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายสิงห์ นางกรายเป็นสามีภริยากัน หลังจากนายสิงห์ถึงแก่กรรมแล้ว นางกรายได้แบ่งทรัพย์ให้แก่บุตร ต่อมาปรากฏว่านายสิงห์เจ้ามรดกได้ทำคำสั่งเป็นพินัยกรรมไว้ว่าให้นายอัมพรและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก และให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ 243 และ 69 ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลคิดทำห้องแถว 9 ห้อง โดยให้จับสลากแบ่งกันคนละห้อง ฯลฯ เมื่อการที่ นางกรายได้แบ่งทรัพย์ให้แก่ทายาทไปก่อนแล้วนั้นไม่เป็นไปตามพินัยกรรมต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2512 จึงได้มีการจับสลากแบ่งทรัพย์กันใหม่การจับสลากแบ่งทรัพย์มรดกครั้งนี้ จำเลยได้รับส่วนแบ่งที่ดินโฉนดที่ 243(แปลงพิพาท) ร่วมกับนางประสานสุข นางประสิทธิ์ศรี และนางสาวทิพยวรรณ จำเลยและบุคคลดังกล่าวได้รับโอนที่ดินโฉนดนี้ไปแล้วแต่วันที่ 8 พฤษภาคม2512 ต่อมานายอัมพรและโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ศาลจังหวัดระยองได้มีคำสั่งให้บุคคลทั้งสามร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2513

ในปัญหาที่ว่า จำเลยต้องคืนที่ดินโฉนดที่ 243 ซึ่งจำเลยมีส่วนถือกรรมสิทธิ์อยู่ในการจับสลากแบ่งมรดกได้ เพื่อให้ผู้จัดการมรดกไปจัดการแบ่งมรดกตามพินัยกรรมตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพินัยกรรมของนายสิงห์ได้สั่งว่า ที่ดินในเขตเทศบาลสองแปลง (คือโฉนดเลขที่ 243 และ 69)ให้ทำห้องแถว เมื่อนายสิงห์ตายแล้วให้บุตรแบ่งกันคนละห้องจับสลากเรียงเลข 1-9 นับแต่ขวามือไปทางซ้ายมือ ใครได้เลขอะไรก็ให้เป็นของคนนั้น และได้ทำแผนผังโฉนดที่ดินเลขที่ 243 สำหรับปลูกห้องแถว 6 ห้อง และทำแผนผังที่ดิน 69 สำหรับปลูกห้องแถว 3 ห้อง และได้ระบุไว้ว่าที่ดินส่วนที่อยู่นอกเขตให้จัดการขายเอาเงินมาหารายได้ให้น้อง ๆ เรียนจนจบอุดมศึกษาหรือแล้วแต่จะเรียนได้ เงินที่เหลือจากน้อง ๆ เรียนจบแล้วก็ให้เฉลี่ยปันกัน ให้มีผู้จัดการมรดกจัดการตามนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่านายสิงห์เจ้ามรดกมีเจตนาที่จะให้บุตร 9 คนของนายสิงห์ได้ที่ดินในโฉนดที่ 243 และ 69 ทำห้องแถว 9 ห้อง และให้บุตรได้แบ่งห้องแถวที่สร้างขึ้นนั้นโดยการจับสลากแบ่งกันคนละห้อง เมื่อนายสิงห์เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ และตั้งผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรมด้วย การแบ่งมรดกของนายสิงห์เจ้ามรดกแก่ทายาทจะต้องกระทำโดยผู้จัดการมรดก และผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการแบ่งมรดกตามที่นายสิงห์เจ้ามรดกได้ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่การแบ่งมรดกรายนี้ นอกจากมิได้เป็นการแบ่งโดยผู้จัดการมรดกแล้ว ก็ยังมิได้แบ่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของเจ้ามรดกอีกด้วย กล่าวคือตามข้อกำหนดในพินัยกรรมและเอกสารที่เจ้ามรดกให้ปลูกห้องแถวในที่ดินโฉนดที่ 243 รวม 6 ห้อง และในที่ดินโฉนดที่ 69 รวม 3 ห้องรวมทั้งหมด 9 ห้อง แล้วให้แบ่งให้แก่บุตรทั้ง 9 คนคนละ 1 ห้อง โดยวิธีจับสลาก แต่กลับแบ่งที่ดินโฉนดที่ 243 ออกเป็น 4 ส่วน กับที่ดินโฉนดที่ 69 และที่ดินอีกแปลงหนึ่งโฉนดที่ 808 แบ่งเป็น 5 ส่วน รวมเป็น 9 ส่วนแล้วจับสลากกัน การแบ่งดังกล่าวขัดกับข้อกำหนดในพินัยกรรม การแบ่งมรดกรายนี้จึงเป็นการแบ่งที่มิได้เป็นไปตามพินัยกรรม มิชอบด้วยกฎหมาย แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะจดทะเบียนลงชื่อจำเลยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 243 แล้ว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ยังฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเสียได้ จำเลยต้องคืนที่ดินโฉนดที่ 243ส่วนที่จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วนั้นแก่ผู้จัดการมรดก เพื่อจะนำไปจัดการแบ่งมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม

พิพากษายืน

Share