คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3202/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรตามที่ได้รับแจ้งการประเมิน หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องในระหว่างที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองอันเป็นการที่จำเลยทั้งสองใช้สิทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินหนี้ค่าภาษี 241,546.71 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นเดือนในต้นเงิน 68,246.99 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นเดือนในต้นเงิน 12,712.52 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นเดือนในต้นเงิน 3,358.54 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในภาษีบำรุงเทศบาล ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะต่อโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องในทางภาษีอากรต่อโจทก์ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบและจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง วันที่ 27 มีนาคม 2544 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และได้แจ้งให้จำเลยทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ยังไม่ทราบผลการส่งของพนักงานไปรษณีย์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (2) แม้จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ตาม เพราะไม่มีกฎหมายห้ามฟ้องและคดีจะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ส่วนคู่กรณีที่พิพาทกันจะฟ้องได้เมื่อใดหรือไม่ ภายในระยะเวลาเท่าไร จะต้องพิจารณากฎหมายอื่นประกอบด้วย แม้เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งการประเมินให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าภาษีตามที่ได้รับการประเมิน แต่จำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์การประเมินได้ก็เพื่อจะให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประการใด เมื่อพิจารณาแล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้น การที่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรตามที่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงหาเป็นการโต้แย้งสิทธิที่จะทำให้โจทก์นำคดีมาฟ้องในขณะที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าคดีจะขาดอายุความนั้นเป็นเพียงความเห็นของโจทก์และหาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องไม่ คดีจึงไม่จำต้องสืบพยาน ที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.

Share