คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 37 บัญญัติให้ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้เพื่อแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในกิจการเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ กรรมการเจ้าหนี้ย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลายในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้มีมติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ประการใดแล้ว มติดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายนั้นเอง ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องที่ขอให้แก้ไขมติที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ดังกล่าวเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งตามมาตรา 36ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นได้ โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ ผู้ร้องหามีสิทธิเช่นว่านั้นไม่ และหากถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตาม มาตรา 146 ผู้ร้องก็มิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไรจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดให้มีการประชุมกรรมการเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตาม มาตรา 146 ได้ ดังนี้ จึงไม่มีเหตุแก้ไขมติที่ประชุมเจ้าหนี้นั้น

Share