คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3181/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรีและเขตคลองสานกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 มาตรา 4 ระบุให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเมื่อเป็นส่วนหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการ โดยมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่อธิบดีกรมโยธาธิการจำเลยที่ 2 ลงชื่อในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จำเลยที่ 2 ก็ทำในนามจำเลยที่ 1 การแจ้งการวางทรัพย์และขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยกรมโยธาธิการ การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ก็แจ้งเป็นหนังสือที่ออกโดยจำเลยที่ 1 ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจและ หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดังนี้ อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2ที่ได้ดำเนินการไปย่อมต้องถือว่ากระทำในฐานะผู้แทนของ จำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์และการฟ้องคดีของ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้ โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 เป็นผู้กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดราคาของ อสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมาเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัย แล้วจึงถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือ ในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสองก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับ แจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด ดังกล่าวแล้วแต่กรณี โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอ เงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืน ค่าต้นไม้ และ รั้ว โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง เมื่อค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นคนละส่วนคนละกรณีกันกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ว่าเป็นกรณีที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือกรณีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง ก็ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 9 ประกอบด้วยมาตรา 25 วรรคหนึ่งและมาตรา 26 วรรคหนึ่งจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 คือ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันทำให้ราคาลดลงให้แก่โจทก์ หากโจทก์ไม่พอใจการพิจารณาในส่วนนี้ของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เสียก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้ โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนค่าต้นไม้และค่ารั้วต่ำเกินไป ย่อมไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนว่าราคาลดลงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติในกรณีที่มีการตกลง ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 โดยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่าย เงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ วันที่ทำสัญญาซื้อขาย และในมาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติในกรณี ที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด ของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าที่ดินที่ถูกเวนคืนให้ โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย แต่ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยเพิ่มค่าทดแทนให้ ผู้มีสิทธิได้ รับค่าทดแทนย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าทดแทนนับแต่ วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กันในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์อย่างช้าภายในวันที่8 ตุลาคม 2535 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยเพิ่มให้นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2535 แม้จำเลยทั้งสองจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในวันทำสัญญาซื้อขาย คือในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสอง สมัครใจจ่ายให้ไปก่อนเอง ทั้งที่มีสิทธิจะจ่ายภายใน หนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย วันที่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์ไปดังกล่าวจึงมิใช่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติมาตรา 26 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดี มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่3 มิถุนายน 2533 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างถนนตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลายถนนสาธรระยะที่ 2 (ถนนสายตากสิน-เพชรเกษม) โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์แปลงแรกถูกเวนคืน 2 ส่วนส่วนที่ 1 อยู่ห่างจากถนนรัชดาภิเษก 11 เมตร เนื้อที่ 192 ตารางวา จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนตารางวาละ 20,000 บาทเป็นเงิน 3,840,000 บาท ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 270 ตารางวา กำหนดเงินค่าทดแทนตารางวาละ 9,875 บาท เป็นเงิน 2,666,250 บาทที่ดินแปลงที่ 2 ถูกเวนคืน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 อยู่ห่างจากถนนรัชดาภิเษก 14.50 เมตร เนื้อที่ 202 ตารางวา กำหนดราคาค่าทดแทนตารางวาละ 20,000 บาท เป็นเงิน 4,040,000 บาทส่วนที่ 2 เนื้อที่ 208 ตารางวา กำหนดเงินค่าทดแทนตารางวาละ11,875 บาท เป็นเงิน 2,470,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น13,016,250 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเบื้องต้นดังกล่าวแล้วจึงได้อุทธรณ์ค่าทดแทน แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยใน 60 วัน ตามกฎหมาย ที่ดินแปลงแรกมีการถมดินและปลูกบ้านเรือน 7 หลังถนนคอนกรีตเข้าถึง มีราคาซื้อขายในตลาดสูงถึงตารางวาละ150,000 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม โจทก์ควรได้เงินค่าทดแทนที่ดินในราคาตารางวาละ 150,000 บาท ที่ดินทั้งสองแปลงที่ถูกเวนคืนรวม872 ตารางวา คิดเป็นเงิน 130,800,000 บาท เมื่อหักเงินค่าทดแทนที่โจทก์รับมาแล้ว 13,016,250 บาท จำเลยทั้งสองต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์อีก 117,783,750 บาท หลังถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์เหลือแปลงละ 324 ตารางวา และ 438 ตารางวา ตามลำดับมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมทำประโยชน์ได้น้อยปลูกสร้างอาคารได้รูปแบบจำกัด เป็นผลให้ราคาที่ดินลดลงตารางวาละ 50,000 บาทรวมเป็นเงินที่ลดลง 38,100,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้กำหนดให้โจทก์ นอกจากนี้ต้นไม้และรั้วของโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 94,500 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนและค่าเสียหาย155,978,250 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2535 คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 28,176,509 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น184,154,759 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน184,154,759 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงิน155,978,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนมีอำนาจจ่ายเงินค่าทดแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ครบถ้วนแล้ว โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพียงตารางวาละ 95,000 บาท แต่มายื่นฟ้องขอเงินค่าทดแทนตามอำเภอใจในราคาตารางวาละ 150,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนทั้งสองแปลงเมื่อถนนตัดผ่านจะมีราคาสูงขึ้น จำเลยทั้งสองได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้สูงกว่าความเป็นจริงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายคือวันที่8 ตุลาคม 2535 โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 11 และ 26 วรรคสาม เงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับเป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ 103,563,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่19 มีนาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ 80,703,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 2เป็นบุคคลธรรมดา และแม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานั้น จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นการเฉพาะกิจเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสานกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2533 มาตรา 4 ระบุว่า “ให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้” การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการโดยมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่อธิบดีกรมโยธาธิการ จำเลยที่ 2 ลงชื่อในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยจะเห็นว่าได้ในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ก็ทำในนามจำเลยที่ 1 การแจ้งการวางทรัพย์และขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินตามเอกสารหมาย ล.7 ก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยจำเลยที่ 1 การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย ล.33 ก็แจ้งเป็นหนังสือที่ออกโดยจำเลยที่ 1ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ได้ดำเนินการไปต้องถือว่ากระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่าควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เท่าใดจึงจะถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพที่ตั้ง และวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว เห็นว่า ราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมสำหรับที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงคิดราคาโดยเฉลี่ยตารางวาละ 50,000 บาท ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืน 872 ตารางวาคิดเป็นค่าทดแทน 43,600,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว13,016,250 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีก 30,583,750 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่จำนวนเท่าใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์และการฟ้องคดีของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้ โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 เป็นผู้กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ก็ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งเป็นลำดับต่อมาเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัย แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณีที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น โจทก์ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืน ค่าต้นไม้และรั้วเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นคนละส่วนคนละกรณีกันกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง สิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ว่าเป็นกรณีที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือกรณีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง ก็ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนดังกล่าวมาแล้ว จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 คือ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันทำให้ราคาลดลงให้แก่โจทก์ หากโจทก์ไม่พอใจการพิจารณาในส่วนนี้ของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เสียก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้ การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนค่าต้นไม้และค่ารั้วต่ำเกินไปไม่อาจถือได้ว่าได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนว่าราคาลดลงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่เมื่อใดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย” และในมาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” จากบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย ในกรณีศาลวินิจฉัยเพิ่มค่าทดแทนให้ก็ให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าทดแทนเพิ่ม นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันในวันที่ 10 มิถุนายน 2535ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์อย่างช้าภายในวันที่ 8 ตุลาคม 2535 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยเพิ่มให้นับแต่วันที่8 ตุลาคม 2535 แม้ในคดีนี้จำเลยทั้งสองจะจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในวันทำสัญญาซื้อขายคือในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสมัครใจจ่ายให้ไปก่อนเอง ทั้งที่มีสิทธิจะจ่ายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย วันที่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์ไปดังกล่าวจึงมิใช่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ 30,583,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share