แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คณะกรรมการของสหภาพแรงงานเป็นผู้แทนที่มีอำนาจดำเนินกิจการของสหภาพแรงงาน หากคณะกรรมการของสหภาพแรงงานไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการในฐานะเป็นผู้แทนทั้งหมด ก็มีสิทธิที่จะตกลงมอบหมายให้กรรมการของสหภาพแรงงานคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนร่วมกันทำกิจการแทนคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ ในการดำเนินคดีของสหภาพแรงงานจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำร่วมกันโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ได้ตกลงมอบหมายให้จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ การที่จำเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียวได้ลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ในนามของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีอำนาจเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ทนายความดังกล่าวลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงานโดยจำเลยที่ 2 เป็นประธาน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 เป็นกรรมการระหว่างประกอบกิจการโจทก์และพนักงานได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ต่อกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงนัดให้มีการเจรจาระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือขอถอนข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยจะยื่นข้อเรียกร้องฉบับใหม่แก้ไขเพิ่มเติมสภาพการจ้างแต่ต่อมาพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน กรมแรงงานมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกรมแรงงานทราบว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีการเจรจากัน ดังนั้นการเจรจาจึงไม่เป็นผลขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายและนัดให้ผู้แทนโจทก์พบเจ้าหน้าที่กองแรงงานสัมพันธ์ กรมแรงงานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันนัด จำเลยที่ 1 กับพวกได้ขอถอนข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อโจทก์และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการนัดหยุดงานจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าการเจรจาและการไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้และที่ประชุมของจำเลยที่ 1 มีมติให้จำเลยที่ 1 กับพวกและสมาชิกของจำเลยที่ 1 นัดหยุดงานในวันที่ 15 มีนาคม 2531 เวลา 8 นาฬิกาเป็นต้นไปแต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่มีสิทธิแจ้งการนัดหยุดงานเพราะจำเลยที่ 1 ได้ถอนข้อเรียกร้องไปแล้ว โจทก์ประกาศให้เข้าทำงานตามปกติ แต่ไม่มีลูกจ้างคนใดปฏิบัติตามคำสั่ง การที่จำเลยที่ 1แจ้งการนัดหยุดงาน และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 กับลูกจ้างไม่เข้าทำงานตามวันเวลาทำงานตามปกติและตามคำสั่งของโจทก์ เป็นการนัดหยุดงานที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่จะได้รับเงินจากการจำหน่ายสินค้าเฉลี่ยวันละ1,200,000 บาท จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 6,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสี่และสมาชิกของจำเลยที่ 1 ยกเลิกการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กลับเข้าทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ต่อไป จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่าข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งจำเลยที่ 1ถึงที่ 14 ได้ยื่นต่อโจทก์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับ กรณีจึงยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาประนอมข้อพิพาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยถอนข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 กระทำการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยมีสิทธินัดหยุดงาน จำเลยรวมทั้งลูกจ้างของโจทก์ยังปฏิบัติงานตามปกติ เมื่อกรณียังอยู่ในขั้นตอนของการประนอมข้อพิพาทแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง จำเลยกับลูกจ้างทุกคนยังปฏิบัติงานตามปกติ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อชี้ขาดว่า จำเลยปฏิบัติผิดขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ได้ถอนข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 ที่ได้ยื่นไว้เมื่อ วันที่ 11กุมภาพันธ์ 2531 ไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 และได้ถอนข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 ที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2531จึงไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องหรือให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีก การที่จำเลยทั้งสิบสี่และลูกจ้างของโจทก์บางส่วนนัดหยุดงานจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34(1)พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 และลูกจ้างของโจทก์ที่นัดหยุดงานยกเลิกการนัดหยุดงานและเข้าทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2531 มีใจความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ได้ลาออกจากงานไปแล้วตามภาพถ่ายหนังสือขอลาออกจากงานท้ายคำแถลง โจทก์จึงไม่มีอำนาจและไม่มีความจำเป็นที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 กลับเข้าทำงานตามคำขออีกสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531ได้หมดอำนาจการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ใบแต่งทนายของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ลงนามจึงไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ กรรมการชุดเดิมจึงต้องรักษาการไปก่อนเพื่อรอการจัดให้มีการประชุมใหญ่ จำเลยที่ 3 จึงยังคงมีอำนาจลงนามในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14มิได้โต้แย้งคัดค้านคำแถลงของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14ไม่ได้ลาออกจากงาน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 กับลูกจ้างของโจทก์ที่ไม่เข้าทำงานกลับเข้าทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ต่อไป ดังนี้เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14ได้ลาออกจากงานแล้วตามภาพถ่ายหนังสือขอลาออกจากงานท้ายคำแถลงของโจทก์ดังกล่าว สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 จึงเป็นอันสิ้นสุดลง กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 อีกต่อไป
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2531 โดยนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ทนายความเป็นผู้ลงชื่อใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้แต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ เป็นทนายความ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 15 สิงหาคม 2531 ให้จำเลยที่ 1 ทำใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อแต่งตั้งนายสุรเดชจิตรจงรักษ์ เป็นทนายความตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 29 สิงหาคม2531 ปัญหามีว่า จำเลยที่ 3 มีอำนาจแต่งตั้งทนายความในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 87 และการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานนั้นจะต้องเป็นไปตามมาตรา 100 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้สหภาพแรงงานมีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำแทนก็ได้”ซึ่งหมายความว่า ผู้มีอำนาจเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานที่มีอำนาจดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานได้แก่คณะกรรมการของสหภาพแรงงานนั้น ๆโดยเฉพาะหากคณะกรรมการของสหภาพแรงงานไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการในฐานะเป็นผู้แทนทั้งหมด คณะกรรมการของสหภาพแรงงานก็มีสิทธิที่จะตกลงมอบหมายให้กรรมการของสหภาพแรงงานคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนร่วมกันทำกิจการแทนคณะกรรมการของสหภาพแรงงานก็ได้สำหรับกรณีของจำเลยที่ 1 นี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องโจทก์โดยจำเลยทั้งสิบสี่มิได้ให้การโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 2เป็นประธานและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ดังนั้นในการดำเนินคดีของจำเลยที่ 1 พึงต้องกระทำร่วมกันโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการและไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ได้ตกลงมอบหมายให้จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3แต่เพียงผู้เดียวได้ลงลายมือชื่อแต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์เป็นทนายความตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531(สารบาญอันดับ 80) ให้มีสิทธิอุทธรณ์ในนามของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีอำนาจเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่นายสุรเดช จิตรจงรักษ์ทนายความลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 จากสารบบความ