คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีมีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับเขตที่ดินของโจทก์ที่ 2 กับที่ดินอันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ซึ่งอยู่ติดต่อกันว่าอยู่ตรงที่ใด และที่ดินตรงนั้นจะเป็นของโจทก์ที่ 2 หรือของสำนักสงฆ์โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงทำบันทึกข้อตกลงว่าให้ที่ดินตรงที่พิพาทกันนั้นตกเป็นของสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคี.ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่ขาดไปนั้น จำเลยที่ 1 ยินยอมให้รังวัดที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 ชดใช้โจทก์ที่ 2 จนครบข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้เป็นการผ่อนผันให้กันและกันเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 3274 ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินมีเขตติดที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสสำนักงานสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีซึ่งตั้งอยู่ติดที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันออกสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออก เป็นเนื้อที่ 1 งาน 70 ตารางวา เพื่อมิให้สำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ที่ดินของจำเลยที่ 1 ชดใช้ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ที่ขาดไปจนครบ หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรังวัดที่ดินชดใช้ให้โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งแปลงให้แก่บุคคลอื่นที่จำเลยที่ 2 เชิญให้เป็นตัวแทนซื้อที่ดิน เมื่อโอนกันแล้วจึงโอนต่อให้จำเลยที่ 2ต่อไป โจทก์ไปคัดค้านการโอนไว้แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า สำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีไม่เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์หลังจากทำบันทึกข้อตกลงตามฟ้องแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันใหม่โดยยกเลิกบันทึกข้อตกลงเดิม จำเลยที่ 1 มิได้มีข้อพิพาทกับโจทก์ที่ 2 เอกสารข้อตกลงท้ายฟ้องไม่มีข้อความให้ระงับข้อพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่พิพาทเป็นส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อที่จำเลยอ้างว่ามีการตกลงกันใหม่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับฟังไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามสัญญาให้โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องคำให้การมูลกรณีเกิดจากมีปัญหาว่าสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีอันมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกันหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่มีข้อพิพาทหรือมี จะมีข้อพิพาทกับโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะให้ที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 ก็เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคีหรือจำเลยที่ 2 และในการตกลงกันนี้โจทก์ที่ 2 ก็มิได้ผ่อนผันอะไรให้แก่จำเลยที่ 1 เลย บันทึกหรือสัญญาตามเอกสาร จ.1 มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเอาสัญญาดังกล่าวมาฟ้องให้บังคับจำเลยได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป พิพากษากลับยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่าการที่ทำบันทึกข้อตกลงขึ้น เพราะโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 จะมีกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับเขตที่ดินของโจทก์ที่ 2 กับที่ดินอันเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคี ซึ่งอยู่ติดต่อกันว่าอยู่ตรงที่ใด และที่ดินตรงนั้นจะเป็นของโจทก์ที่ 2 หรือของสำนักสงฆ์วัดราษฎร์สามัคคี ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เมื่อโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันให้ที่ดินตรงนั้นตกเป็นของวัดราษฎร์สามัคคี จึงเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปโดยโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยอมผ่อนผันให้กันและกัน และการที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ตกลงกันได้ ก็สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ที่ 2 รังวัดที่ดินเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 เท่าที่โจทก์ที่ 2 ตกลงยอมให้จำเลยที่ 2 ไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมระงับข้อพิพาทรายนี้ด้วย ข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 เป็นการผ่อนผันให้กันและกันเพื่อระงับ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้เพียงใดหรือไม่ ยังมีข้อเท็จจริงที่โต้เถียงอยู่ และเป็นปัญหาสำคัญ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย จึงเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ก่อน

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อนแล้ว พิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share