แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในกรณีเช่นนี้โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างรวม 4 เดือน โดยคิดเท่ากับเงินเดือนหรือเงินอื่นตามฟ้องของโจทก์
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 1 จ่ายเป็นเงินปรับเข้าขั้นเดือนละ 55 บาท รวม 2 เดือน เป็นเงิน 110 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิจะได้รับเงินเดือน เงินค่าครองชีพ เงินค่าช่วยเหลือบุตรและเงินปรับเข้าขั้นตามฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้วินิจฉัยชี้ขาด 2 ประการ คือ ประการแรก ให้จำเลยรับกลับเข้าทำงาน ประการที่ 2ให้จ่ายเงินเดือนนับแต่วันถูกเลิกจ้าง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องกันเฉพาะคำขอประการที่ 2 เรื่องเงินเดือนนั้น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะสั่งให้ได้คำกล่าวเช่นนี้น่าจะหมายความว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องฟ้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งที่ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัยว่าโจทก์ชอบที่จะฟ้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องด้วยกรณีฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องของการกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 65/2523 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2523สั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ในกรณีเช่นนี้โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างคือตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2523 ซึ่งเป็นวันถูกเลิกจ้าง จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2523 รวม 4 เดือน โดยคิดเท่ากับเงินเดือนหรือเงินอื่นตามฟ้องของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ จ่ายได้เฉพาะเงินค่าปรับเข้าขั้นประจำเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2523 เท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่าให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายเท่ากับเงินเดือน เงินค่าครองชีพ เงินช่วยเหลือบุตร และเงินปรับเข้าขั้น รวม 4 เดือน เป็นเงิน 9,940 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้นี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”