แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความในสัญญาระบุชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อตกลงให้ผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือน เมื่อชำระครบแล้วจะโอนรถยนต์ให้ทันที โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นการเช่าซื้อและไม่มีข้อสัญญาว่าในกรณีผิดนัดสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญให้เจ้าของทรัพย์สินบอกเลิกสัญญาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 574 ป.พ.พ. สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินงวดที่ 11 มาแสดงเพราะหายไป แต่โจทก์มีใบเสร็จรับเงินงวดหลังจากนั้นมาแสดง ประกอบกับจำเลยใช้บุตรชายไปเก็บเงินงวดที่ 18 จากโจทก์โดยเขียนข้อความและลงลายมือชื่อรับเงินไว้หลังใบเสร็จรับเงินงวดที่ 16จึงฟังได้ว่าโจทก์ชำระราคาให้ครบถ้วนซึ่งรวมทั้งงวดที่ 11 ด้วยแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อรถยนต์ จากจำเลยในราคา 75,000 บาทในวันทำสัญญาวางเงินจำนวน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 3,000 บาท โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ ขอให้จำเลยชดใช้ราคาจำนวน 75,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจนถึงวันฟ้อง 30,000 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายวันละ 300 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ขายรถยนต์คันพิพาท แต่ได้ให้โจทก์เช่าซื้อไปในราคา 75,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาจำนวน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเป็นงวด ทุกเดือนติดต่อกันไป 19 เดือน ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท เฉพาะงวดสุดท้ายชำระ 1,000 บาท โดยใช้แบบพิมพ์หนังสือสัญญาซื้อขายแทนแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อ แล้วโจทก์มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด และค้างชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 และ 19 ติดต่อกัน 2 งวด จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเข้าครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว หากโจทก์จะได้รับประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทก็ไม่เกินวันละ 100 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนและส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 75,000 บาท ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน15,000 บาท และวันละ 150 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะจดทะเบียนโอนและส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท มิใช่สัญญาซื้อขายนั้น เห็นว่าข้อความในเอกสารหมาย จ.2 ระบุชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยจำเลยเป็นผู้ขาย โจทก์เป็นผู้ซื้อโจทก์ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยจำนวนเงิน 75,000 บาท ตกลงให้ผ่อนชำระ โดยในวันทำสัญญาโจทก์ได้ชำระให้ 20,000 บาท และจะผ่อนเป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือนจนครบเมื่อชำระเงินครบแล้วจะโอนรถยนต์ให้ทันที โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้ซื้อจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้ขาย ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นการเช่าซื้อและไม่มีข้อสัญญาว่า ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินคือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ที่จำเลยอ้างว่าที่ต้องใช้แบบพิมพ์สัญญาซื้อขายเพราะแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อไม่มีขายนั้น ก็ไม่สมเหตุผลเพราะแม้จะใช้แบบพิมพ์สัญญาซื้อขายมาเขียนกรอกข้อความ จำเลยเป็นถึงผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ย่อมสามารถขีดฆ่าแก้ไขเป็นสัญญาเช่าซื้อได้โดยเฉพาะสัญญาข้อ 3 ที่เว้นว่างไว้ให้เขียนเองนั้นก็น่าจะเขียนเป็นผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อให้ชัดเจนได้ ช่องลงลายมือชื่อของผู้ขายและผู้ซื้อก็แก้ไขเป็นผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อได้ แต่ทั้งจำเลยและโจทก์ก็ยังใช้คำว่า ผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งปรากฏว่าในวันทำสัญญาดังกล่าวจำเลยได้มอบรถยนต์คันพิพาทพร้อมใบคู่มือการจดทะเบียนให้โจทก์ด้วย โจทก์ได้แจ้งย้ายทะเบียนรถคันดังกล่าวจากจังหวัดอุทัยธานีมาจังหวัดนครสวรรค์และได้หมายเลขทะเบียนใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ จึงสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ว่าเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทตามที่โจทก์ตกลงซื้อจากจำเลย มิใช่เป็นสัญญาเช่าซื้อดังที่จำเลยนำสืบแต่อย่างใด ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 จริงโดยเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขให้ผ่อนชำระจนครบราคาขาย 75,000 บาทจำเลยจึงจะให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทตกเป็นของโจทก์ ปัญหาว่าโจทก์ได้ชำระราคาให้จำเลยครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น โจทก์มีใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.3 มาแสดงเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากได้ชำระในวันทำสัญญาจำนวน 20,000 บาทแล้วโจทก์ได้ผ่อนชำระให้จำเลยจำนวน 19 งวด เป็นเงิน 57,000 บาท โดยชำระเกินราคาไป 2,000 บาท ส่วนใบเสร็จงวดที่ 11 หายไปไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้นั้นก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่างวดที่ 11ได้ชำระแล้ว เพราะโจทก์มีใบเสร็จงวดหลังจากนั้นมาแสดง และพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยได้ใช้ให้นายเสกสันต์ ฤทธิ์เต็มบุตรจำเลยไปเก็บเงินในงวดที่ 18 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2527 โดยนายเสกสันต์เขียนข้อความและลงลายมือชื่อรับเงินไว้ด้านหลังใบเสร็จรับเงินงวดที่ 16 คือฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2527 ซึ่งนายเสกสันต์พยานจำเลยก็เบิกความรับว่าเป็นลายมือของตน โจทก์ไม่ได้บังคับจึงมิใช่เป็นกรณีนายเสกสันต์ไปยืมเงิน 200 บาท จากโจทก์แล้วโจทก์ให้เขียน ถ้าไม่เขียนแล้วจะไม่ได้เงิน 200 บาท ดังที่นายเสกสันต์เบิกความตอบทนายจำเลยในตอนแรก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์คันพิพาทให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญาแล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์…”
พิพากษายืน.