คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3108/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นการมิชอบ ศาลภาษีอากรกลางแจ้งว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นประเด็นย่อย ซึ่งอยู่ในประเด็นหลักที่ว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จึงไม่ได้กำหนดประเด็นย่อยในการชี้สองสถานไว้นั้น เมื่อตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดชี้สองสถานและสำนวนความ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาท ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 21 วรรคท้าย จึงต้องถือว่าประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ตามที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานและได้กำหนดไว้
แม้ว่าการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องอาศัยความสมัครใจของโจทก์ทั้งสอง เมื่อเข้าลักษณะเป็นกรณีจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องด้วยนิยามคำว่า “ขาย” ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน ซึ่งหน้าที่ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นเป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขายทอดตลาดมิใช่หน้าที่ของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่เสียหรือนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 91/21 (6) ประกอบมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียภาษีส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1 ) เลขที่ 4220/6/00012 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/162/2547 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2547
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2534 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 209463 เลขที่ดิน 8281 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 80/102 ตำบลสวนหลวง (บางจาก) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538 นางมาลินีเป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4803/2536 ของศาลแพ่ง โดยวิธีปลอดจำนองในราคา 4,100,000 บาท และได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว นางมาลินีได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ตนและได้รับจดทะเบียนประเภทการขายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ทั้งสองมิได้นำรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1) เลขที่ 4220 /6/00012 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2546 ให้โจทก์ทั้งสองชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นรวม 270,600 บาท โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/162/2547 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2547
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่เป็นการชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นการมิชอบ ศาลภาษีอากรกลางแจ้งว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นประเด็นย่อย ซึ่งอยู่ในประเด็นหลักที่ว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จึงไม่ได้กำหนดประเด็นย่อยในการชี้สองสถานไว้ ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้ระบุไว้ชัดเจนว่า แม้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้อง แต่เนื่องจากเป็นการขายทอดตลาดซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นผู้ขาย และโจทก์ทั้งสองมิได้รับเงินจากผู้ซื้อ การเรียกเก็บภาษีจากการขายทุกกรณีเป็นการหักจากรายรับในการขาย จึงเป็นค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขายทอดตลาด และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องเรียกเก็บในขณะมีการขายทอดตลาด มิใช่เรียกเก็บจากลูกหนี้ในคดีภายหลัง โจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาไม่ชำระภาษีตามการประเมินแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นจากโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นเพียงว่า โจทก์ทั้งสองต้องชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะในการขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องเพียงประเด็นเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถานและสำนวนความ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 21 วรรคท้าย จึงต้องถือว่าประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ตามที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานและได้กำหนดไว้ดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะในการขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์จะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกา ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลร่วมกันซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 209463 เลขที่ดิน 8281 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 80/102 ตำบลสวนหลวง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2534 และได้ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538 แม้จะเป็นการถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดก็ยังต้องด้วยนิยามคำว่า “ขาย” ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือเชิญพบโจทก์เพื่อชี้แจงและให้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวรวม 2 ครั้ง โจทก์ทั้งสองได้รับทราบแล้วแต่เพิกเฉย ไม่ได้ชี้แจงต่อเจ้าพนักงานของจำเลย ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 ว่า ทนายโจทก์ทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเป็นคณะบุคคลที่ได้ทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทและขายให้นางมาลินี เป็นเงิน 4,100,000 บาท ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ซื้อมา และการขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลแพ่ง โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานบุคคลของโจทก์ทั้งสองทั้งหมด และไม่ติดใจถามค้านพยานจำเลย จึงไม่มีข้อเท็จจริงเป็นอื่นที่ฟังได้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) แม้ว่าการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เพื่อชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องอาศัยความสมัครใจของโจทก์ทั้งสอง เมื่อเข้าลักษณะเป็นกรณีจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง ต้องด้วยคำนิยามคำว่า “ขาย” ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน ซึ่งหน้าที่ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นเป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขายทอดตลาด มิใช่หน้าที่ของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่เสียหรือนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 91/21 (6) ประกอบมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียภาษีส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 4,000 บาท

Share