คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ กำหนดเงื่อนไขในการคืนอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วได้ผลิตหรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุ ด้วยของดังกล่าวและส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศไว้ว่า ผู้นำสินค้าเข้าต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนอากรสำหรับสินค้าทั้งสองรายการที่จำเลยอ้างขอตัดบัญชีได้อีกภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 ทวิ และไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนไว้เลย จึงไม่อาจนำจำนวนสินค้าทั้งสองรายการดังกล่าวไปหักออกจากสินค้าคงเหลือซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินเรียกเก็บจากจำเลย จำเลยต้องชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่ค้างชำระแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 3,698,872.01 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 1,561,946.78 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์ทั้งสองนำพยานมาสืบไปฝ่ายเดียว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองจะปรากฏว่า เมื่อจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยได้ขอยกเลิกแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวอ้างว่ามีใบขนสินค้าขาออกที่ใช้ตัดบัญชีสินค้าได้อีก และต่อมาธนาคารผู้ค้ำประกันได้มีหนังสือขอคืนภาษีที่จำเลยจะได้รับคืนเนื่องจากมีใบขนสินค้าขาออกตัดบัญชีได้ คือสินค้านำเข้ารายการที่ 1 สามารถตัดบัญชีได้อีก 6,716.018 กิโลกรัม คงเหลือสินค้าที่ไม่ได้ใช้ผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 1,571.306 กิโลกรัม สินค้ารายการที่ 2 มีใบขนสินค้าขาออกใช้ตัดบัญชีได้ 248.3 กิโลกรัม คงเหลือสินค้าที่ไม่ได้ใช้ผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 251.9 กิโลกรัม แต่พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ กำหนดเงื่อนไขในการคืนอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วได้ผลิตหรือผสม หรือประกอบ หรือบรรจุ ด้วยของดังกล่าวและส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศไว้ว่า ผู้นำสินค้าเข้าต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอคืนอากรภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 ทวิ ตลอดจนไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนไว้เลย กรณีจึงไม่อาจนำจำนวนสินค้าทั้งสองรายการดังกล่าวไปหักออกจากสินค้าคงเหลือซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินเรียกเก็บจากจำเลย จำเลยต้องชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่ค้างชำระจำนวน 3,698,871.94 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากเงินต้นอากรขาเข้า 1,561,946.78 บาท คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,698,871.94 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงิน 1,561,946.78 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง กำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท.

Share