คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3093/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 วรรคแรกบัญญัติไว้ว่า เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ฯลฯย่อมเห็นได้ว่า รัฐต้องการให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินได้รับค่าทดแทนในราคาที่เป็นธรรม จึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ค่าทดแทนไว้ดังกล่าวจำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ จะยกข้ออ้างเรื่องทำเพื่อประโยชน์ของรัฐที่ต้องบริการสาธารณะแล้วกำหนดค่าทดแทนที่ดินโดยไม่ยึดถือบทบัญญัติของกฎหมายหาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ซื้อที่ดินมาในราคาตารางวาละ5,155 บาท ที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินของโจทก์ซื้อขายกันในราคาตารางวาละ 2,500 บาทบ้าง ในราคาตารางวาละ 5,000 บาทและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 2,500 บาทจึงเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามที่บัญญัติไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295ข้อ 76 โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 ตำบลห้วยทราย อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรีเนื้อที่ 3 งาน 88 ตารางวา เมื่อปี 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อก่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ-วังน้อย-สระบุรี-ลพบุรี-ชัยนาท-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-เชียงราย ตอนดอนเมือง-สระบุรีที่ดินโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเป็นเนื้อที่162 ตารางวา คณะกรรมการปรองดองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 750 บาท เป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 121,500 บาทซึ่งถูกกว่าราคาที่ดินในขณะนั้นมาก จึงมิใช่ราคาที่ดินตามธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ขณะที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 และมาตรา 63 (ที่ถูกเป็นข้อ 63) ต่อมาในวันที่ 28 ธันวาคม 2531 โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทน 121,500 บาท แล้วแต่ขอสงวนสิทธิอุทธรณ์เรียกเงินค่าทดแทนเพิ่ม และโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ควรได้รับค่าทดแทนตารางวาละ 5,000 บาทแต่จนถึงวันฟ้องนี้โจทก์มิได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่ประการใด โจทก์เรียกค่าทดแทนเป็นเงิน 810,000 บาท เมื่อหักกับเงินที่โจทก์ได้รับไปแล้ว 121,500 บาท ยังขาดเงินที่ควรจะได้อีก 688,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 688,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อวันที่12 มิถุนายน 2525 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ-วังน้อย-สระบุรี-ลพบุรี-ชัยนาท-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-เชียงราย ตอนดอนเมือง-สระบุรี ในท้องที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกาอำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอินอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอหนองแคอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2525 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 เกี่ยวกับค่าทดแทนนั้น คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดค่าทดแทนโดยยึดถือวันที่ 19 มิถุนายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ดังกล่าวใช้บังคับ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76(3) โดนนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับในปี 2526 และราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ที่มีผลใช้บังคับในปี 2526 มาประกอบการพิจารณากับสภาพทำเลของที่ดินมากำหนดเป็นค่าทดแทนให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ300,000 บาท หรือตารางวาละ 750 บาท ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืน162 ตารางวา เป็นค่าทดแทน 121,500 บาท ค่าทดแทนดังกล่าวจึงถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมาย ส่วนราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามเอกสารท้ายฟ้องที่โจทก์อ้างนั้นเป็นการซื้อขายเฉพาะรายที่ผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงกันเท่านั้น ไม่ใช่ราคาที่ดินที่จะนำมากำหนดเป็นค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 364,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทนที่ดิน 283,500 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าการเวนคืนที่ดินรายนี้เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่จะได้ใช้ทางหลวงสัญจรไปมาด้วยความสะดวกปลอดภัยก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินได้รับด้วยมิใช่ว่าถ้าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมแล้วจะไม่ต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเลยเพราะโดยความเป็นจริงเงินที่รัฐนำมาใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าเวนคืนก็เป็นของประชาชนนั่นเอง การที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295ข้อ 76 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63แล้ว ให้กำหนดราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดฯลฯ ก็ย่อมเห็นได้ว่า รัฐต้องการให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินได้รับค่าทดแทนในราคาที่เป็นธรรม จึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ค่าทดแทนไว้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ จะยกข้ออ้างเรื่องทำเพื่อประโยชน์ของรัฐที่ต้องการบริการสาธารณะแล้วกำหนดค่าทดแทนที่ดินโดยไม่ยึดถือบทบัญญัติของกฎหมายหาได้ไม่ ดังนั้นการที่โจทก์ซื้อที่ดินมาในราคาตารางวาละ 5,155 บาท ที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินของโจทก์ซื้อขายกันในราคาตารางวาละ 2,500 บาทบ้าง ในราคาตารางวาละ 5,000 บาทบ้าง และศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ 2,500 บาท จึงเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามที่บัญญัติไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 โดยชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share