แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หญิงมีสามีฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสต้องฟ้องร่วมกับสามีหรือได้รับความยินยอมของสามี
ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้แก้ไขเรื่องความสามารถ แต่พิพากษายกฟ้อง โดยว่าไม่มีหลักฐานความยินยอมของสามีเป็นหนังสือศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาโดยส่งหนังสือยินยอมของสามีมาด้วย จำเลยแก้ฎีกาว่าหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง ดังนี้ต้องให้ศาลชั้นต้นไต่สวนเสียก่อนว่าหนังสือยินยอมของสามีโจทก์ให้ฟ้องคดีถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็ถือว่าโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีบริบูรณ์แล้ว ถ้าไม่ถูกต้อง ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่ง แล้วดำเนินการต่อไป
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทเป็นสินสมรส ไม่ใช่สินส่วนตัวของโจทก์ ดังนั้นการฟ้องคดีซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับสินสมรส โจทก์จึงต้อฟ้องร่วมกับสามี หรือได้รับความยินยอมจากสามี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่มาตรา 1476, 1477 หากทำไปโดยลำพังฝ่ายเดียวก็ถือว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 กรณีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีแล้ว แต่ปรากฏจากการพิจารณาในศาลชั้นต้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าความยินยอมดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคแรก ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสียให้บริบูรณ์ตามมาตรา 56 วรรคสองก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสำนวน แล้วพิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์ยืนยันว่าโจทก์ไม่จำเป็นต้องรับความยินยอมจากสามี จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์ตามมาตรา 56 วรรคสอง ต้องพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสียให้บริบูรณ์ก่อน ถ้าศาลชั้นต้นสั่งแล้วโจทก์ไม่ยอมแก้ไขและยืนยันเช่นนั้น รูปคดีก็มีเหตุสมควรที่จะยกฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์อ้างได้ กรณีนี้ในชั้นฎีกา โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีได้ส่งหนังสือยินยอมของสามีให้โจทก์ฟ้องคดีมาพร้อมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยแก้ฎีกาว่าหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่จำเลยไม่รับรอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าหนังสือยินยอมของสามีโจทก์ให้ฟ้องคดีถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็ถือว่าโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีบริบูรณ์แล้วถ้าไม่ถูกต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่ง แล้วดำเนินการต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นจัดการในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีของโจทก์ตามที่กล่าวมา แล้วพิพากษาคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”