คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างมีข้อความว่า “อัตราการจ่ายเงินจำนวนเท่ากับอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างปกติในขณะนั้น หนึ่งเดือนทุกเวลาหนึ่งปีเต็มที่ผู้นั้นได้ทำงานกับบริษัทโดยติดต่อกัน หักด้วยเงินชดเชยการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าหรือเงินทดแทนอื่นใดในการสูญเสียงาน ซึ่งพนักงานผู้นั้นมีสิทธิได้รับตามข้อความในสัญญาจ้างหรือกฎหมาย” คำว่า “เงินชดเชยการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า” นั้นมีความหมายชัดเจนว่าหมายถึงเงินที่ให้แทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า ไม่อาจแปลว่าเป็นเงิน”ค่าชดเชย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุโดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 316,440 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าจำนวน 26,370 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเงินจำนวน 632,880 บาท และเงินพิเศษอีก 168,768 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับไปทั้งสิ้น801,648 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 316,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (16 มีนาคม 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าระเบียบข้อบังคับ ข้อ 42.5 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหักด้วยค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงถือว่าค่าชดเชยรวมอยู่ในเงินบำเหน็จด้วยแล้ว นั้น ระเบียบข้อบังคับ ข้อ 42.5มีข้อความว่า “อัตราการจ่ายเงินจำนวนเท่ากับอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างปกติในขณะนั้นหนึ่งเดือนทุกเวลาหนึ่งปีเต็มที่ผู้นั้นได้ทำงานกับบริษัทโดยติดต่อกัน หักด้วยเงินชดเชยการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า หรือเงินทดแทนอื่นใดในการสูญเสียงานซึ่งพนักงานผู้นั้นมีสิทธิได้รับตามข้อความในสัญญาจ้างหรือกฎหมาย”เห็นได้ว่า ข้อความในระเบียบข้อบังคับข้อ 42.5 ที่ว่า”เงินชดเชยการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า” นั้น มีความหมายชัดเจนว่าหมายถึงเงินที่ให้แทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า ไม่มีทางที่จะแปลว่าเป็นเงิน “ค่าชดเชย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานดังที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ ดังนี้การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามระเบียบข้อบังคับข้อ 42.5 นี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแก่โจทก์แล้ว
พิพากษายืน

Share