แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคำให้การเดิมของตนย่อมทำได้ด้วยการขอแก้หรือเพิ่มคำให้การ ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าวก็หาทำให้การพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ต้องเสียไปไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดจริงตามฟ้อง ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยไว้แล้วจัดส่งคำให้การ คำร้องและรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาโดยมิได้สั่งคำร้องดังกล่าว คดีมีปัญหาว่า จำเลยจะขอถอนคำให้การในชั้นศาลอุทธรณ์เพื่อให้การใหม่ว่าให้การรับสารภาพได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองถูกฟ้องและให้การปฏิเสธแล้ว หากจำเลยทั้งสองประสงค์จะให้การรับสารภาพจำเลยก็ย่อมทำได้ด้วยการขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งจำเลยจะต้องยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๓ วรรคสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิ่งยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เทียบได้ตามนัยคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่๓๘๖/๒๕๑๙ ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าวก็หาทำให้การพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ต้องเสียไป หรือต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณสอบถามคำให้การของจำเลยอีก ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยลงวันที่สั่งจ่าย ถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยผู้ออกเช็คกระทำผิด
พิพากษายืน.