คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3025/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสิ่งก่อสร้าง ตามที่โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญากันไว้ เป็นเรื่องฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างธรรมดาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 601 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพักพนักงานจำนวน 4 ครอบครัว และถมดิน ณ การไฟฟ้าอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จากโจทก์ตกลงราคาเหมารวมทั้งสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานเป็นเงิน 195,000 บาท จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 19,500 บาทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างและส่งมอบงานให้โจทก์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2518 โจทก์ได้ชำระค่าจ้างเหมาจำนวน 195,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับไปเรียบร้อยแล้วปรากฏต่อโจทก์เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2518 ซึ่งอยู่ในกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันส่งมอบงานว่า งานก่อสร้างชำรุดบกพร่องเสียหายหลายแห่ง จำเลยมีหน้าที่ต้องซ่อมแซมแก้ไขให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการชำรุดบกพร่องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทราบ และให้จัดการซ่อมแซมแก้ไข จำเลยทั้งสองได้รับแล้วเพิกเฉย โจทก์ได้ให้ช่างของโจทก์สำรวจประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดซ่อมแซมและแก้ไขคิดเป็นเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงงานรวมทั้งสิ้น 34,750 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระค่าเสียหายภายในวงเงินประกัน และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระค่าเสียหายส่วนเกินจากวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ 3 แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามได้รับแล้วเพิกเฉย จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม2518 ถือว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดนับแต่วันนั้นต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในวงเงิน 19,500 บาท ถึงเดือนที่ฟ้องเป็นเงิน 853.13 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2519 เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 15,250 บาท ถึงเดือนที่ฟ้องเป็นเงิน 667.19 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหายรวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน20,353.13 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน15,917.19 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 เสียดอกเบี้ยในเงิน 19,500 บาทและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เสียดอกเบี้ยในเงิน 15,250 บาท ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เดือนฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมชดใช้หรือไม่อาจเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ได้ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าเสียหายทั้งหมดรวม 36,270.32 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 34,750 บาท นับแต่เดือนฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ปรากฏตามฟ้องว่าโจทก์ได้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างที่จำเลยทั้งสองส่งมอบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2518 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างตามแบบแปลนมิได้บกพร่อง หากชำรุดก็เกิดจากการกระทำของโจทก์ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหากมีก็เพียงเล็กน้อยซึ่งจำเลยก็ได้แก้ไขให้โจทก์แล้ว ที่โจทก์สำรวจประมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อซ่อมแซมแก้ไข ก็ไม่เป็นความจริง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ออกหนังสือค้ำประกันจริง แต่เป็นการค้ำประกันความเสียหายที่จำเลยที่ 1 รับทำการก่อสร้างให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับงานก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 โดยไม่ทักท้วงย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมหลุดพ้นความรับผิด ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมแก้ไขตามฟ้องเป็นแต่เพียงประมาณการและสูงเกินไป โจทก์ยังไม่ได้จ้างผู้ใดแก้ไขซ่อมแซม จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดเชยให้ จำเลยที่ 3 ไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวทวงถาม ไม่ได้ผิดนัด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของงานตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2518 แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น ปรากฏตามฟ้องว่าโจทก์ทราบถึงความชำรุดบกพร่องเมื่อเดือนธันวาคม 2518 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 เกินกำหนดหนึ่งปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขตามที่โจทก์กับจำเลยได้สัญญากันไว้ เป็นเรื่องฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญา ซึ่งผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 601 ไม่ คดีได้ความตามฟ้องซึ่งจำเลยมิได้โต้เถียงว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ซ่อมแซมแก้ไขบ้านพักที่ก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม 2519 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นอื่นที่คู่ความยังโต้เถียงกันต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพักพนักงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีความในข้อ 5 ว่า “ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ผู้จ้างได้รับมอบงานนี้จากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ โดยผู้รับจ้างทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดี ผู้รับจ้างรับทำแก้ไขใหม่โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของ สัมภาระ และค่าแรงงานจากผู้จ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่รีบจัดการแก้ไขหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้จ้างเป็นต้นไป ผู้จ้างมีอำนาจที่จะจ้างผู้อื่นทำการแทนต่อไปได้ โดยผู้รับจ้างยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างเท่าที่จ้างจริงโดยสิ้นเชิง” คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่างานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำ และส่งมอบให้โจทก์แล้วเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายและไม่เรียบร้อยภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบ โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 กลับเพิกเฉยโจทก์ให้ช่างของโจทก์สำรวจทำประมาณค่าใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงงานแล้ว รวมเป็นเงิน34,750 บาท จึงฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ่ายผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขดังนี้ หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 ไม่บทบัญญัติแห่งมาตรา 601 นั้น ต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 เมื่อไม่มีข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้ว แต่ปรากฏงานที่จ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลัง จึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่การชำรุดบกพร่องได้ ปรากฏขึ้น แต่กรณีของโจทก์นี้มีข้อสัญญาตกลงกันไว้ดังกล่าว โจทก์จำเลยต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาต่อกันอยู่อีก จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้รับจ้างได้รับแจ้งแล้วไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เป็นที่เรียบร้อยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้จ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นทำแทนต่อไปและเรียกค่าจ้างที่ต้องเสียไปเพราะจ้างผู้อื่นทำแทนนั้นได้ ฉะนั้น เมื่อมีข้อตกลงกันเช่นนี้แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญานั้น ย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญา ซึ่งเข้าลักษณะสัญญาจ้างธรรมดา โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดได้ กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีได้ความตามฟ้องโดยจำเลยมิได้โต้เถียงว่า โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซ่อมแซมแก้ไขบ้านพักที่ก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม 2519 และกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 จึงหาขาดอายุความไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share