คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3013/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายในการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และในชั้นพิจารณาก็มิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งมิได้มาศาลและนำสืบให้ศาลเห็นว่าการโอนดังกล่าวเป็นการโอนโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ตัวได้ว่า การโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งได้รับโอนที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทดังกล่าว จากผู้คัดค้านที่ 1 หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสาม ขอให้ล้มละลายแล้วแม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 116 เพราะมิได้เป็นผู้รับโอนหรือได้สิทธิมาก่อนมีการขอให้ล้มละลาย การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนที่พิพาทนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายต่อเนื่องกันมาอีกทอดหนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จะได้รับโอนโดยสุจริต หรือมีค่าตอบแทนก็ตามย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 เช่นกัน.

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องจำเลย(ลูกหนี้) ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2524 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2524 และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ที่ 3 เด็ดขาด และพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2526เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2524นายสมชาย ทองอยู่เลิศ บุตรจำเลยที่ 2 เข้ารับมรดกความแทน ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 และ 16601 พร้อมตึกแถวสามชั้น รวม 2 คูหา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยที่ 2ได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16601 พร้อมตึกแถวเลขที่3359/4 ให้แก่บคคลภายนอกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2523 และโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/3 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2524 ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2526ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 4 แล้วผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 4 ได้ร่วมกันจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นประกันหนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2526 ทั้งนี้การที่จำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการโอนที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำในระหว่างเวลาสามปึก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยผู้คัดค้านที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งเป็นการโอนโดยสมยอมกันโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 สำหรับการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/3 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 รวมตลอดทั้งการจำนองไว้กับผู้คัดค้านที่ 5นั้น ได้กระทำภายหลังที่มีการขอให้ล้มละลาย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 16601 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/4 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 โอนขายให้พ้นตำรวจเอกสุนทร ไทยประเสริฐ นั้น ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าพันตำรวจเอกสุนทรบุคคลภายนอกได้รับโอนโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนทั้งเป็นการรับโอนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย จึงได้รับความคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 116 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 และ 16601 ตำบลคลองสาน (ตลาดสมเด็จ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถวสามชั้นเลขที่3359/3 และ 3359/4 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 และเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/3ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และเพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 รวมทั้งเพิกถอนการจำนองและการจดทะเบียนแก้ไขสัญญาจำนองระหว่างผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 5 โดยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 400,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่ดินโฉนกเลขที่ 16601 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 400,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ได้ซื้อและรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นตึกแถวเลขที่ 3359/3จากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเป็นเงิน 350,000 บาทโดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอน
ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 2โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายผู้คัดค้านที่ 2 ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 3ที่ 4 ก็ซื้อและรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวต่อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะร้องขอให้เพิกถอนการโอนหาได้ไม่
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายให้ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 ซึ่งได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 5 รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนด้วยย่อมได้รับยกเว้นมิต้องถูกเพิกถอนการโอน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16601 ตำบลคลองสาน (ตลาดสมเด็จ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้นเลขที่ 3359/4ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 24 ธันวาคม 2527)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่16600 ตำบลคลองสาน (ตลาดสมเด็จ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้นเลขที่ 3359/3ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 รวมตลอดถึงการรับโอนของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงผู้คัดค้านที่ 4 และการรับจำนองของผู้คัดค้านที่ 5 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงผู้คัดค้านที่ 4 ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าว 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้อง (ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นับแต่วันที่ 24ธันวาคม 2527 ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 นับแต่วันที่ 12 มีนาคม2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ผู้คัดค้านทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง ผู้ร้องว่าคดีเองจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นขอให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2524 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2524ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายสมชายทองอยู่เลิศเข้ารับมรดกความแทน ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2526ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไว้เด็ดขาดและพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์2523 จำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่3359/3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 16601 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/4ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ผู้คัดค้านที่ 1ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16601 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/4 ให้แก่พันตำรวจเอกสุนทร ไทยประเสริฐ และวันที่ 30 มกราคม 2524 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/3ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 วันที่ 7 กรกฎาคม 2526 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/3 ให้ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4
ปัญหาที่ขึ้นสู่ศาลฎีกามีว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมตึกแถวเลขที่ 3359/3 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนกับผู้คัดค้านที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้หรือไม่ เห็นว่าที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 อันเป็นการโอนในระหว่างระยะเวลา 3ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ในการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้มาให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และในชั้นพิจารณาผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับโอนก็มิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งมิได้มาศาลและมิได้นำสืบแสดงให้ศาลเห็นว่าการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 นั้นผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เหตุนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินดังกล่าวและจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะแก้ตัวได้ว่าการโอนนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมาจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2524 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายแล้ว ดังนี้แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 116 เพราะมิได้เป็นผู้รับโอนหรือได้สิทธิมาก่อนมีการขอให้ล้มละลาย และการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2526 ก็เป็นการโอนภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายต่อเนื่องกันมาอีกทอดหนึ่งผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 จะได้รับโอนโดยสุจริตหรือมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 116 เช่นเดียวกันฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรณีที่หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านร่วมกันใช้ราคาทรัพย์นั้นเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย เพราะตราบใดที่การโอนระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอน ก็ยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยอนึ่งแม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกันชำระหนี้น้อยกว่าที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงผู้คัดค้านที่ 1 สำหรับการเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600 พร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วย เพราะเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16600ตำบลคลองสาน (ตลาดสมเด็จ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวสามชั้นเลขที่ 3359/3ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 รวมตลอดถึงการรับโอนของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 และการรับจำนองของผู้คัดค้านที่ 5 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าว 400,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาเองจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share