แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจึงย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบรายการในเช็คว่าถูกต้องหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั้งจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คบางฉบับให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ในเช็คมีความพิรุธปรากฏอยู่ จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 แต่เมื่อเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดนั้นจึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญคือความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรเมื่อความพิรุธในเช็คที่น่าจะตรวจสอบพบมีหนึ่งในสาม ส่วนอีกสองในสามมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนของความเสียหายที่โจทก์ได้รับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารรับฝากเงินจากลูกค้าและประชาชนทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม เป็นสาขาของจำเลย โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับสาขาสีลมของจำเลยโดยตกลงกันว่า การเบิกจ่ายเงินจากบัญชีโจทก์ต้องใช้เช็คในการเบิกจ่ายและเมื่อมีผู้นำเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเรียกเก็บเงินจากจำเลย จำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบเช็คทุกฉบับที่มีผู้นำไปเรียกเก็บเงินว่าถูกต้องไม่มีการแก้ไขก่อนที่จำเลยจะหักทอนเงินจากบัญชีของโจทก์เพื่อจ่ายเงินแก่ผู้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินนั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 จำเลยแจ้งให้พนักงานของโจทก์ไปรับเช็คจำนวน 2 ฉบับ ที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทางการค้าของโจทก์ซึ่งมีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คให้สูงกว่าความเป็นจริงโดยมีการเติมตัวเลขที่หน้าตัวเลขเดิมและเติมตัวอักษรจำนวนเงินที่หน้าตัวอักษรจำนวนเงินเดิมให้จำนวนเงินสั่งจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวอักษรที่เติมมีลักษณะลีบเล็กกว่าตัวอักษรที่เขียนไว้เดิมสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นอกจากนี้โจทก์ได้ตรวจสอบเช็คที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ทางการค้าของโจทก์ย้อนหลังไปอีกพบว่า มีการแก้ไขรายการในเช็คด้วยวิธีการดังกล่าวอีกจำนวน 76 ฉบับ นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยและจำเลยได้หักทอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์และจ่ายเงินไปตามเช็คทุกฉบับนั้นแล้ว ต่อมาโจทก์แจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ที่ปลอมแปลงเช็คของโจทก์และศาลพิพากษาลงโทษผู้ปลอมแปลงแล้ว ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคารซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไปแต่กลับประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวที่มีรอยแก้ไขเห็นได้ด้วยตาเปล่าไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องจ่ายเงินสูงกว่าความเป็นจริงเป็นเงิน 6,610,000 บาท เป็นการละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบการละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 411,745.50 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 7,021,745.50 บาท ขอใช้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 7,021.745.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 6,610,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า พนักงานของจำเลยปฏิบัติหนี่ตรวจสอบความถูกต้องของเช็คจำนวน 76 ฉบับ ตามฟ้องโดยรอบคอบและใช้ความระมัดระวังมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด เช็คทุกฉบับสมบูรณ์และการจ่ายเงินตามเช็คเป็นไปตามทางการค้าโดยสุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความเสียหายเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เองที่ไม่ใช้ความระมัดระวังในการสั่งจ่ายเช็ค เป็นเหตุให้นางสาวกาญจนาพนักงานของโจทก์กระทำการทุจริต กรณีตามที่โจทก์ฟ้องมิใช่เรื่องผิดสัญญาฝากทรัพย์ หากแต่เป็นเรื่องละเมิด โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 7,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 4,406,666.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลเป็นเงิน 10,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉันว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยสาขาสีลม ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน การจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวก็โดยการใช้เช็คที่โจทก์ออกให้แก่ผู้อื่นแล้วผู้นั้นนำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 จำเลยแจ้งให้พนักงานของโจทก์ไปรับเช็คคืนจำนวน 2 ฉบับ ที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ในทางการค้าของโจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อโจทก์รับคืนเช็คมาตรวจสอบแล้วพบว่ามีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คทั้งสองฉบับโดยการเติมตัวเลขและตัวอักษรลงข้างหน้าตัวเลขและตัวอักษรเดิมให้มีจำนวนเงินสูงขึ้นกว่าจำนวนเงินเดิม โจทก์ตรวจสอบเช็คที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ในทางการค้าย้อนหลังไป พบว่ามีการกระทำด้วยวิธีการดังกล่าวในเช็คอีก 76 ฉบับ รวมเป็นเงินที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม 6,610,000 บาท ซึ่งในขณะนั้นนางสาวกาญจนาเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ ต่อมาพนักงานอัยการดำเนินคดีแก่นางสาวกาญจนาฐานทำให้เสียทรัพย์ ปลอมและใช้เอกสารปลอม นางสาวกาญจนาให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาจำคุกนางสาวกาญจนา โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และจำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การแก้ไขเช็คทั้งหมดเขียนด้วยลายมือเขียนเดียวกันของนางสาวกาญจนาโดยใช้ปากกาด้ามเดียวกัน ไม่มีการแก้ไขให้เห็นประจักษ์ จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อแต่โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและโจทก์ได้รับเงินคืนจากนางสาวกาญจนาเป็นเงิน 710,000 บาท ไปแล้วนั้น โจทก์มีนายพรศักดิ์รองกรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ขั้นตอนการจ่ายเช็คของโจทก์ให้แก่เจ้าหนี้เริ่มจากนางสาวกาญจนากรอกข้อความและตัวเลขตามใบแจ้งหนี้ของเจ้าหนี้จากนั้นนางสาวกาญจนานำใบสำคัญการจ่าย ใบแจ้งหนี้และเช็คที่ลงรายการแล้วเสนอต่อนายพรศักดิ์ นายพรศักดิ์ตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้องก็จะคืนเอกสารทั้งหมดให้แก่นางสาวกาญจนาเพื่อนำไปให้นายธนาคม กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ซึ่งนั่งทำงานอยู่ที่บริษัท พี.เอ.อี. จำกัด ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในช่องข้อความจำนวนเงินที่เป็นตัวอักษจะเริ่มต้นและปิดท้ายด้วยวงเล็บหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนเงินหน้าวงเล็บจะต้องเขียนด้วยตัวอักษรที่ตัวเล็กมากเมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2541 โจทก์ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากธนาคารจำเลยสาขามีนบุรีว่า นางสาวกาญจนานำเช็คที่โจทก์ออกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปเข้าบัญชีของตนเอง และจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากมีการแก้ไขจำนวนเงินให้สูงขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจน ตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 จากนั้นโจทก์ให้จำเลยตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีย้อนหลัง พบว่านางสาวกาญจนาได้เขียนเพิ่มตัวเลขและตัวอักษรจำนวนเงินในเช็คอีก 76 ฉบับ และนำเช็คไปเข้าบัญชีของตนเองที่ธนาคารจำเลยสาขามีนบุรี และนำเงินสดไปจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทน ตามเช็คและสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.9 จำเลยหักเงินจากบัญชีของโจทก์ตามจำนวนเงินที่มีการเขียนเพิ่มเติมนั้น ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงรวม 6,610,000 บาท โดยพนักงานของจำเลยต้องมีความชำนาญและใช้ความระมัดระวังมากกว่าบุคคลธรรมดาในการตรวจสอบตัวเลขและตัวอักษรในเช็ค และมีนางสาวกาญจนาเป็นพยานเบิกความรับรองถึงขั้นตอนการออกเช็คของโจทก์ดังกล่าว และเบิกความยอมรับว่าเมื่อนางสาวกาญจนาได้รับเช็คที่นายธนาคมลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์แล้ว นางสาวกาญจนาแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขและตัวอักษรจำนวนเงินในเช็คให้สูงขึ้นโดยวิธีเขียนทับวงเล็บเปิดด้านหน้าของตัวอักษรจำนวนเงินและเพิ่มตัวเลขในช่องตัวเลขจำนวนเงิน เช็คบางฉบับจำเลยจ่ายเงินให้แก่นางสาวกาญจนาแต่บางฉบับจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินและติดต่อให้นางสาวกาญจนาไปรับเช็คคืนเห็นว่า โจทก์นำสืบพยานเพียง 2 ปากดังกล่าวถึงขั้นตอนในการออกเช็คของโจทก์และกล่าวอ้างแต่เพียงว่าพนักงานของจำเลยต้องมีความชำนาญและต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าบุคคลธรรมดาในการตรวจสอบตัวเลขและตัวอักษรในเช็คเท่านั้นโดยมิได้นำสืบว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างร้ายแรงประการใดบ้าง ในทางตรงข้ามนางสาวกาญจนากลับเบิกความยอมรับว่า เช็คบางฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและติดต่อให้นางสาวกาญจนาไปรับเช็คคืน เมื่อนางสาวกาญจนาได้รับเช็คคืนมาแล้ว บางฉบับนางสาวกาญจนาทำรายการยกเลิกเช็คแล้วนำไปติดไว้กับต้นขั้วเช็คเดิม บางฉบับก็ฉีกทิ้งไป และบางครั้งนางสาวกาญจนานำใบวางบิลและใบสำคัญการจ่ายมาออกเช็ดด้วยวิธีเดียวกันมากว่า 1 ฉบับ อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่นำพนักงานผู้ตรวจสอบเช็คของจำเลยหลายคนมาเบิกความสรุปได้ว่าพนักงานผู้ตรวจสอบเช็คของจำเลยทุกคนต้องดำเนินการตามคู่มือปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย ล.5 โดยเฉพาะข้อ 1.5 ที่ว่า ตรวจสอบจำนวนเงินในเช็คว่าตัวเลขและตัวอักษรตรงกันหรือไม่ ข้อ 1.7 ที่ว่า ตรวจสอบว่า ต้องไม่มีรอยขีดฆ่าหรือแก้ไขในกรณีที่มีการขีดฆ่าหรือเปลี่ยนแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญในเช็ค ผู้สั่งจ่ายต้องลงนามกำกับข้อความที่ขีดฆ่าหรือแก้ไขนั้น ๆ ไว้ จึงจ่ายเงินตามเช็คให้ไป การที่ได้ความจากนางสาวกาญจนาเองว่า จำเลยเคยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์มาแล้วหลายฉบับเนื่องจากจำเลยตรวจสอบพบการแก้ไข แสดงว่าพนักงานของจำเลยตรวจสอบพบการแก้ไขเช็คของโจทก์มาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดตามเช็คเอกสารหมาย จ.5 และใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.6 ที่ระบุว่าโปรดให้ผู้สั่งจ่ายลงนามเต็มกำกับการแก้ไข และเมื่อพิจารเช็คและสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.9 ทั้งหมดแล้ว เห็นว่า โจทก์เองขาดความระมัดวังและความละเอียดรอบคอบในการออกเช็ค และการตรวจสอบบัญชีหลายประการ กล่าวคือ การออกเช็คให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ตามใบแจ้งหนี้และใบสำคัญการจ่ายตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4 ทุกฉบับ ยกเว้นฉบับที่ 5 ระบุชื่อเจ้าหนี้ของโจทก์อย่างชัดแจ้ง โจทก์ควรที่จะให้นางสาวกาญจนาระบุชื่อผู้รับเงินลงในเช็คให้ชัดเจน แต่ตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 เป็นเช็คเงินสดหรือเช็คผู้ถือทั้งสิ้น ซึ่งผู้ใดที่ยึดถือเช็คนั้นไว้ย่อมเป็นผู้ทรง ทำให้ง่ายต่อการนำไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่มิใช่บัญชีของเจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ส่วนในช่องจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวอักษรตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ยินยอมให้นางสาวกาญจนาเว้นช่องว่างด้านหน้ามากเกินสมควร และด้านหน้าและด้านหลังตัวอักษรจำนวนเงินใช้วงเล็บเปิดและวงเล็บปิดแทนการใช้ขีดเส้น ซึ่งง่ายต่อการเขียนทับ เชื่อได้ว่าเป็นเจตนาของนางสาวกาญจนาเพื่อที่จะนำไปเติมข้อความในภายหลัง นอกจากนี้นายพรศักดิ์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในฝ่ายบัญชีของโจทก์มีพนักงานเพียงคนเดียวคือนางสาวกาญจนา ไม่มีระเบียบการปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษร นางสาวกาญจนาเป็นผู้เก็บดวงตราประทับของบริษัท และในช่องจำนวนเงินที่เป็นตัวอักษรมีช่องว่างห่างอยู่เล็กน้อยจึงไม่ได้บอกให้นางสาวกาญจนาเขียนให้ชิดขึ้นอีก และในช่วงระยะเวลาเกิดเหตุจำเลยส่งสำเนาบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.10 ให้โจทก์แต่นายพรศักดิ์ไม่เคยเห็นเพราะนางสาวกาญจนาเป็นผู้เก็บไว้ เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาบัญชีดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมิได้ทักท้วงไปยังจำเลย แต่นางสาวกาญจนาเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันว่า นายธนาคมเคยเรียกสำเนาบัญชีกระแสรายวันไปตรวจสอบ แต่ไม่เคยทักท้วงในเรื่องการเคลื่อนไหวทางบัญชีดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าโจทก์เองขาดการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คส่วนใหญ่ แก้ไขจากหลักพันเป็นหลักหมื่น หลักหมื่อนเป็นหลักแสน และบางฉบับจากหลักร้อยเป็นหลักแสน หากโจทก์ตรวจสอบสำเนาบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งไปให้โจทก์ยืนยันบ้างก็น่าจะเห็นข้อพิรุธ แต่นายธนาคมก็ไม่เคยทักท้วง และนายพรศักดิ์ก็เบิกความว่าในช่วงที่นางสาวกาญจนากระทำการดังกล่าวอยู่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 การออกเช็คมีสมุดคุมเช็คอีกชั้นหนึ่งหากนายพรศักดิ์นำสมุดคุมเช็คมาเทียบดูกับสำเนาบัญชีกระแสรายวัน ก็ย่อมจะเห็นความแตกต่าง แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ นับเป็นเวลานานถึงประมาณ 3 ปี โจทก์จึงมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย ในส่วนของเช็คและสำเนาเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 นั้นส่วนใหญ่มีการเขียนเติมตัวเลขและตัวอักษรของจำนวนเงินได้อย่างแนบเนียนยากที่จะตรวจสอบให้เห็นเป็นพิรุธว่ามีการเขียนเติมเพราะผู้เขียน คือ นางสาวกาญจนาซึ่งเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกัน และใช้ปากกาด้ามเดียวกัน สีเดียวกัน ยกเว้นบางฉบับที่พอมองเห็นความพิรุธได้บ้าง เช่น ฉบับที่ 2 ตัวอักษรสองหลักแรกเล็กกว่าตัวอักษรตัวอื่น ฉบับที่ 6 ตัวอักษรหกหมื่นทับกับตัวอักษรที่พิมพ์ไว้ในเช็ค ฉบับที่ 25 ตัวอักษรสองแสน ไม่ชัดเจน และตัวเลข 200 เล็กกว่าตัวเลขถัดไป ฉบับที่ 31 ตัวอักษรสองหลักแรกเล็กกว่าตัวอักษรตัวอื่น ฉบับที่ 48 ตัวอักษรสองหลักแรกไม่ชัดเจน ฉบับที่ 51, 53 ถึง 62, 66, 67 ถึง 74 ตัวอักษรสองหลักแรกเล็กกว่าตัวอักษรตัวอื่น ความพิรุธที่น่าจะตรวจสอบพบดังกล่าวคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของปริมาณเช็คเอกสารหมาย จ.9 ประกอบกันนายวิชัย หัวหน้าหน่วยงานบัญชีกระแสรายวันของจำเลยสาขาสีลมเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่าเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 บางฉบับถ้าตรวจสอบโดยละเอียดจะปรากฏการแก้ไขการที่จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบรายการในเช็คว่าถูกต้องหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คบางฉบับดังกล่าวให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ในเช็คมีความพิรุธปรากฏอยู่ จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 แต่เหตุของการละเมิดดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดนั้นจึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อความพิรุธในเช็คที่น่าจะตรวจสอบพบมีหนึ่งในสาม ส่วนอีกสองในสามมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนของความเสียหายที่โจทก์ได้รับ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำนวนเงินที่มีการเขียนเพิ่มเติมนั้น สูงกว่าความเป็นจริงรวม 6,610,000 บาท แต่ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวกาญจนาพยานโจทก์เองว่า นางสาวกาญจนาคืนเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 710,000 บาท จึงต้องนำมาหักออกไป ซึ่งหักแล้วคงเหลือ 5,900,000 บาท หนึ่งในสามส่วนคิดเป็นเงิน 1,966,666.66 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้เงินจำนวน 1,966,666.66 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุกทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวมเป็นเงิน 9,000 บาท