คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2990/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น ความผิดเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น เมื่อธนาคารซึ่งปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี จึงต้องถือว่าความผิดเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หาใช่เกิดขึ้น ณ สถานที่เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขากบินทร์บุรีรวม ๒ ฉบับ ชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ ต่อมาผู้มีชื่อมอบเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์นำเช็คที่ว่านั้นไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง ๒ ฉบับ ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯ เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขากบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลแขวงพระนครเหนือสั่งว่า ความผิดเกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลนี้ จำเลยไม่มีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลนี้ คืนฟ้องให้โจทก์ไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขากบินทร์บุรี ชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ผู้มีชื่อมอบเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารดังกล่าวปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาว่าความผิดได้เกิดขึ้นที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น ความผิดเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น กรณีนี้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขากบินทร์บุรี ซึ่งปฏิเสธการจ่ายเงิน ตั้งอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จึงต้องถือว่าความผิดเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หาใช่เกิดขึ้น ณ สถานที่ที่เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินดังที่โจทก์ฎีกาไม่ คดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าความผิดเกิดขึ้นที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้วย ศาลแขวงพระนครเหนือชอบที่จะไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาได้ ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๐๒ – ๑๗๐๓/๒๕๒๓, ๒๘๘๖ – ๒๘๘๘/๒๕๒๓ และ ๔๙๙/๒๕๒๔ ที่โจทก์อ้างเทียบกับคดีนี้นั้น คำพิพากษาฎีกาดังกล่าววินิจฉัยถึงอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่ามีอำนาจสอบสวนความผิดที่มีการกระทำต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙(๒) หรือ (๓) และศาลซึ่งท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการสอบสวนมีอำนาจชำระตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒(๑) รูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share