แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมของ ป.เจ้ามรดก ขอให้ลงโทษแต่โจทก์เองก็ถูกฟ้องว่าปลอมพินัยกรรมของ ป. เหมือนกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษโจทก์ฐานปลอมพินัยกรรม คดีถึงที่สุด ดังนี้โจทก์จึงตกเป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ป.ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (5)โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยอันจะมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางปริก สิริยานนท์ และเป็นผู้รับมรดกนางปริก ตามพินัยกรรมลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๕นางปริกวายชนม์เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๐๗ จำเลยทั้งห้าคนกับพวกได้ร่วมกันทำพินัยกรรมปลอมขึ้นทั้งฉบับ ว่าเป็นพินัยกรรมของนางปริกลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๑ มีข้อความตัดโจทก์ว่ามิใช่บุตรบุญธรรมของนางปริก ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของนางปริก และตั้งให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนางปริก และต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒โดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยอื่น ได้นำพินัยกรรมปลอมดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นผู้จัดการมรดกและรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของนางปริกขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖,๒๖๗, ๒๖๘, ๘๓, ๙๐ และ ๙๑
ก่อนไต่สวนมูลฟ้องปรากฏว่าโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องฐานปลอมพินัยกรรมของนางปริกอีกฉบับหนึ่ง คือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๖๓๓/๒๕๐๗ ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นเรื่องปลอมพินัยกรรมของนางปริกด้วยกัน แม้จะเป็นพินัยกรรมคนละฉบับ แต่หากเมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ว่าพินัยกรรมฉบับที่นางประพิศโจทก์อ้างว่านางปริกทำขึ้นเพื่อยกทรัพย์สินให้แก่ตนนั้นเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว คดีนี้ก็อาจจะเสร็จไปได้ จึงสั่งรอการพิจารณาคดีไว้ฟังผลคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๖๓๓/๒๕๐๗ ต่อมาครั้นศาลฎีกาได้พิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๖๓๓/๒๕๐๗ นั้นแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนมูลฟ้อง ตแล้ววินิจฉัยว่าเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยคดีถึงที่สุดในคดีอื่นแล้วว่าโจทก์มิใช่บุตรหรือบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก และลงโทษโจทก์ฐานปลอมและใช้พินัยกรรมปลอม โจทก์หาเป็นผู้เกี่ยวข้องอันใดกับนางปริก และหามีความเสียหายแต่ประการใดเนื่องจากการกระทำผิดฐานปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมของนางปริกไม่ โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะรับฟังไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นบุตรหรือบุตรบุญธรรมของนางปริกก็ตาม โจทก์ก็ถูกกำจัดมิให้รับมรดกนางปริกในฐานะเป็นผู้ไม่สมควร เพราะเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๖(๕) และไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะมีอำนาจฟ้องคดีนี้พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาฝ่ายเดียว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดในคดีดำที่ ๒๖๓๓/๒๕๐๗ นั้น ว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมพินัยกรรมของนางปริก โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางปริกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๖(๕) จึงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๔) เพราะการกระทำทั้งหลายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานปลอมและใช้พินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากที่โจทก์ถูกฟ้องนั้น มิได้ทำให้โจทก์ซึ่งตกเป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกคือทรัพย์สินของนางปริกเจ้ามรดกเสียแล้วนั้นต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยแต่อย่างใด แม้การกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัว และบุตรโจทก์อาจสืบมรดกโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๗ ดังที่โจทก์อ้างก็ตามก็เป็นเรื่องของบุตรโจทก์เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะตนเอง มิใช่ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องของโจทก์นั้นจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน