แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์เมื่อใด ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินเท่าใด ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด โดยกำหนดชำระเสร็จสิ้นเมื่อใด สัญญากำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยทุกวันที่เท่าใด หากผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามกำหนดจำเลยยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงิน และให้ถือเป็นต้นเงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันและมีกำหนดชำระอย่างเดียวกับต้นเงิน หลังจากจำเลย ที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ จำเลยได้ใช้เช็คและหลักฐานอื่น ๆ เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อตัดทอนหนี้สินกันหลายครั้งหลายหน จนถึงวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาของโจทก์ จำเลยเป็น หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเท่าใด กับมีคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าภายในอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยได้เบิกถอนเงินจากโจทก์โดยวิธีใด เป็นเงินจำนวนเท่าใด และครั้งสุดท้ายจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เป็นวันที่ใด ตลอดจนรายละเอียดในบัญชีกระแสรายวันซึ่งโจทก์ได้อ้างในคำฟ้องแล้วเป็นอย่างไร ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำต้องบรรยาย ในคำฟ้อง ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีข้อตกลงล่วงหน้าว่า หากจำเลยเบิกเงินเกินไปจากเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชี และโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คไป ก็ให้โจทก์กับจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกันโดยได้มีการหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้ง ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ก็ระบุข้อความไว้ว่า การให้กู้และกู้ตามสัญญานี้เป็นไปตามประเพณีของธนาคาร ผู้กู้ยินยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้ ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินนี้กลายเป็นต้นเงิน ซึ่งข้อสัญญาเช่นนี้มีลักษณะเป็นเรื่องประเพณีการค้าขายที่ให้คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 655 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่จำเลยขอเปิดบัญชีและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันเดียวกันย่อมเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะเบิกเงินเกินบัญชีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด และตามประเพณีปฏิบัติของทางธนาคารพาณิชย์ก็ให้ยึดถือกันเช่นนั้นมาโดยตลอดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทจึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทซึ่งเป็นสัญญา บัญชีเดินสะพัดกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 13 มีนาคม 2535 แต่ภายหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยยังนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอีกหลายครั้งดังนี้ เมื่อมีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อมาหลังกำหนดเวลาตามสัญญาสิ้นสุดลง จึงต้องถือว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่ หลังจากวันที่ 6 สิงหาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถอนเงินโดยการใช้เช็คแล้วปรากฏว่าไม่มีการนำเงินเข้าฝากและถอนอีกเลย คงมีแต่การคิดดอกเบี้ยทบต้นเข้ากับจำนวนต้นเงินเท่านั้น และเมื่อ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป และจำเลยก็ มิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และ จำเลยที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดกันทางบัญชีต่อไปและโจทก์ จำเลยประสงค์จะเลิกสัญญาต่อกันในวันอันเป็นวันครบรอบหักทอนบัญชี กันเดือนละครั้งตามสัญญาและเป็นภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่มีการหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้าย หาใช่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันอันเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว ของโจทก์ไม่ และหลังจากวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในแบบไม่ทบต้นเท่านั้น และ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 6,817,328.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 6,561,692.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด ฟ้องไม่ได้บรรยายว่าภายในอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากโจทก์ไปอย่างไรเป็นจำนวนเงินเท่าใด และครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์วันที่เท่าใด ทั้งไม่ได้ส่งบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีได้ถูกต้องฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2535 สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน6,817,328.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 6,561,692.11 บาท นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2538 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2122 และ 31644 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,541,375.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม2536 ดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี นับแต่วันที่27 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2537 ดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2537 ถึงวันที่5 ตุลาคม 2537 และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 และดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2122 และ 31644 ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินจำนวน 4,000,000 บาทตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บันทึกต่อท้ายข้อตกลงการฝากเงินบัญชีกระแสรายวัน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายหมายจ.4 ถึง จ.7 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534 และมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมายจ.8 และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2122 เป็นประกันในวงเงินจำนวน 4,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10ซึ่งที่ดินแปลงนี้ต่อมาได้มีการแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2122 และ 31644 แต่ยังมีจำนองครอบติดที่ดินอยู่ทั้งสองแปลง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงินจำนวน 4,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดชำระเสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 มีนาคม 2535 สัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 26 ของเดือน หากผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยตามกำหนด จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงิน และให้ถือเป็นต้นเงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน และมีกำหนดชำระอย่างเดียวกับต้นเงิน จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2122 เป็นประกันในวงเงินจำนวน 4,000,000 บาท หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ใช้เช็คและหลักฐานอื่น ๆ เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อตัดทอนหนี้สินกันหลายครั้งหลายหนจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2537 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์เป็นจำนวนเงิน 6,561,692.11 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 255,636.32 บาท รวมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้นจำนวน 6,817,328.43 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 6,561,692.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ เป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าภายในอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินจากโจทก์โดยวิธีใด เป็นเงินจำนวนเท่าใด และครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เป็นวันที่ใด ตลอดจนรายละเอียดในบัญชีกระแสรายวันซึ่งโจทก์ได้อ้างในคำฟ้องแล้วเป็นอย่างไร ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำขอเปิดเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 10 มีข้อตกลงล่วงหน้าว่าหากจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินไปจากเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชี และโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คไป ก็ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกันโดยได้มีการหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้ง ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ก็ระบุข้อความไว้ในข้อ 4 ว่าการให้กู้และกู้ตามสัญญานี้เป็นไปตามประเพณีของธนาคาร ผู้กู้ยินยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินนี้กลายเป็นต้นเงิน ซึ่งข้อสัญญาเช่นนี้มีลักษณะเป็นเรื่องประเพณีการค้าขายที่ให้คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 655 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีเอกสารหมาย จ.4 และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 ในวันเดียวกันย่อมเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเบิกเงินเกินบัญชีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด และตามประเพณีปฏิบัติของทางธนาคารพาณิชย์ก็ได้ยึดถือกันเช่นนั้นมาโดยตลอด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันใด ข้อนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 13 มีนาคม 2535 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.13 ว่า ภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายถอนเงินโดยการใช้เช็คเมื่อวันที่6 สิงหาคม 2535 จำนวน 200,000 บาท เมื่อมีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อมาหลังกำหนดเวลาตามสัญญาสิ้นสุดลง ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่หลังจากวันที่ 6 สิงหาคม 2535 แล้วปรากฏว่าไม่มีการนำเงินเข้าฝากและถอนอีกเลย คงมีแต่การคิดดอกเบี้ยทบต้นเข้ากับจำนวนต้นเงินเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ดังนั้น ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดกันทางบัญชีต่อไปและเลิกสัญญาต่อกันในวันที่ 26 สิงหาคม 2535 อันเป็นวันครบรอบหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้งตามสัญญาและเป็นภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปดังกล่าว ปรากฏตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน4,609,785.41 บาท วันที่ 26 สิงหาคม 2535 จึงเป็นวันที่มีการหักทอนบัญชีกันครั้งสุดท้าย สัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่มีกำหนดเวลาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2535หาใช่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ไม่ หลังจากวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงคือตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2535 โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในแบบไม่ทบต้นเท่านั้น และอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน4,609,785.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นในต้นเงินดังกล่าวในอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์