คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างการเคหะแห่งชาติจำเลยตำแหน่งคนงานทำความสะอาดแฟลต ได้เข้าไปในห้องและร่วมประเวณีกับ ส. โดยไม่ปรากฏการข่มขืน ยังไม่เป็นการกระทำผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แต่เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โจทก์ไม่มีหน้าที่เข้าไปในห้องของผู้เช่าอาศัยในอาคาร โจทก์อ้างตำแหน่งหน้าที่ไปกระทำการดังกล่าวเป็นการเสื่อมเสียแก่จำเลย ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยถือว่าเป็นการผิดวินัยฐานประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้คงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นความผิดทางวินัยฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยมีโทษถึงปลดออกข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การเคหะแห่งชาติจำเลย สร้างอาคารก็เพื่อให้ประชาชนเช่าและเช่าซื้อเพื่ออยู่อาศัย โจทก์มีภรรยาและบุตรแล้ว โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งคนงานปฏิบัติงานประจำอยู่ที่สำนักงานดูแลเคหะชุมชนบ่อนไก่ มีหน้าที่ทำความสะอาดอาคารแฟลต 1 เคหะชุมชน 3 บ่อนไก่ เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2522 เวลากลางวัน โจทก์ได้เข้าไปในห้องแฟลต 1 ชั้น 4 ของพี่สาวนางพิกุล มีนางสาวสยามรีดผ้าอยู่คนเดียว อ้างว่ามาขอจดมาตรวัดน้ำแล้วได้ร่วมประเวณีกับนางสาวสยาม หลังจากนั้นประมาณเดือนมิถุนายน 2522 ก็ได้เข้าร่วมประเวณีกับนางสาวสยามอีก ต่อมานางพิกุลนายจ้างของนางสาวสยามทราบเรื่องจึงพานางสาวสยามไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ โจทก์ยอมรับว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท แต่แล้วก็บิดพลิ้วไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้นางพิกุลจึงพานางสาวสยามไปร้องเรียนต่อการเคหะแห่งชาติ ทางการเคหะแห่งชาติได้ตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยคณะกรรมการสอบสวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับนางสาวสยามได้เสียกันด้วยความสมัครใจ และมีความเห็นว่าการกระทำของโจทก์ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ฐานประพฤติชั่วร้ายแรง แต่การกระทำได้อ้างตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานการเคหะแห่งชาติไปกระทำความผิด หากยังคงให้ปฏิบัติงานอยู่ต่อไป จะเป็นการเสื่อมเสียแก่การเคหะแห่งชาติ เห็นควรให้เลิกจ้าง ตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ข้อ 32 และข้อ 24(4) ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.8คณะกรรมการบริหารงานบุคคลพิจารณาต่อมาเห็นว่าการที่โจทก์ได้อ้างตำแหน่งหน้าที่ไปกระทำผิดแม้จะโดยความสมยอมของผู้เสียหายหรือไม่ก็ตามก็เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติฉบับที่ 5 ข้อ 31(6) ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ลงมติให้ปลดออก และการเคหะแห่งชาติได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.9 และ ล.10 ดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการที่โจทก์เข้าไปในห้องของนางสาวสยามและร่วมประเวณีกับนางสาวสยามโดยไม่ปรากฏการข่มขืนอันเป็นความผิดทางอาญา พฤติการณ์เช่นว่านี้ยังไม่เป็นการกระทำผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง แต่การกระทำของโจทก์เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โจทก์ไม่มีหน้าที่เข้าไปในห้องของผู้เช่าอาศัยในอาคารโจทก์ได้อ้างตำแหน่งหน้าที่ของพนักงานการเคหะแห่งชาติไปกระทำการดังกล่าวข้างต้น เป็นการเสื่อมเสียแก่การเคหะแห่งชาติ ซึ่งตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ข้อ 24(3) (เอกสารหมาย ล.13, ล.14) ถือว่าเป็นการผิดวินัยฐานประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ คดีนี้โจทก์กล่าวฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน อ้างเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม พฤติการณ์ของโจทก์เช่นว่านี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ปรากฏเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างใด”

พิพากษายืน

Share