คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2876/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่เฝ้าหรือดูแล สถานที่หรือทรัพย์สิน กรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(6) โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างธรรมดาให้แก่โจทก์สำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 10 บาท และทำงาน 8 ชั่วโมงต่อมาจำเลยให้โจทก์ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยจ่ายค่าจ้างวันละ90 บาท เป็นการให้ทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติวันละ 3 ชั่วโมงโดยไม่จ่ายค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 5,940 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 5,940 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นรายวัน วันละ 90 บาทต่อการทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ไม่ใช่ตกลงค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่ม และการทำงานของโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(1) (6)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานที่เกินกำหนดเวลาทำงานปกติเป็นเงิน 1,980 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะข้อ 2(2), 2(3)และ 2(5)
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2(2), 2(3) และ 2(5) นั้น จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นรายวัน วันละ 90 บาท ต่อการทำงานวันละ 12 ชั่วโมง มิใช่ตกลงค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่มจากจำเลย และตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(1) (6) กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าลูกจ้างประเภทโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับการทำงานที่เกินกำหนดเวลาทำงานปกตินั้น เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่เฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินกรณีจึงต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 36(6) ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างผู้มีหน้าที่เฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติไปวันละ 4 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าจ้างไปแล้ว10 บาท จึงยังขาดอยู่วันละ 30 บาท จึงพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานเกินเวลาปกติวันละ 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 66 วันรวม 198 ชั่วโมง ในอัตราค่าจ้างปกติเป็นเงินรวม 1,980 บาท จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share