แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ตั้งสถานพยาบาลและผดุงครรภ์โดยโจทก์ในฐานะนางผดุงครรภ์ จัดการให้ทารกคลอดจากครรภ์มารดา โดยมีสินจ้าง ซึ่งฝ่ายหญิงมีครรภ์ต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อโจทก์ทำคลอดแล้วนั้น เป็นการรับจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งต้องจดทะเบียนการค้าและเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 18) พ.ศ.2504
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอาชีพเป็นนางพยาบาลและนางผดุงครรภ์ ตั้งสถานพยาบาลผดุงครรภ์ ่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาเหนือจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ในฐานะสรรพากรจังหวัดได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย๋จำเลยที่ ๓-๔-๕ พิจารณาแล้ว แจ้งให้โจทก์เสียภาษีตามที่จำเลยที่ ๒ ประเมิน กับเสียเบี้ยปรับเพราะไม่จดทะเบียนการค้าและชำระภาษีต่อไปจนกว่าศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดนั้น ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร ขอศาลพิพากษาว่า การทำสถานพยาบาลผดุงครรภ์ของโจทก์ ไม่เป็นการค้าประเภทรับจ้างทำของ ประเภทที่ ๔(ฉ) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ.๒๕๐๔ และไม่ต้องจดทะเบียนการค้าเพื่อเสียภาษี ให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระไว้ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ๑๖,๐๙๖.๔๕ บาท กับเงินที่โจทก์ชำระไว้ต่อไปอีกทั้งหมดให้โจทก์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยที่ ๒ เรียกเก็บภาษีการค้ารวมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับก็ดี คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๓-๔-๕ ในฐานะกรรมการอุทธรณ์ก็ดี ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวเป็นผู้เรียกเก็บภาษี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑-๓-๔-๕ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีอาชีพเป็นนางพยาบาลและนางผดุงครรภ์มีสถานพยาบาลและผดุงครรภ์ รับจ้างทำการพยาบาลผู้เจ็บป่วยและทำการคลอดบุตรให้หญิงมีครรภ์ ตั้งแต่กันยายน ๒๕๐๔ ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีการค้าและจดทะเบียนการค้า จำเลยที่ ๒ ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มถึงวันฟ้อง ๑๖,๐๙๖.๔๕ บาท โจทก์ชำระแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลรัษฎากร หมวด ๔ ว่าด้วยภาษีการค้า ก่อนแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร หมวด ๔ ว่าด้วยภาษีการค้า ก่อนแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ.๒๕๐๔ ก็ได้กำหนดบัญชีภาษีการค้าประเภท ๑๖ ไว้ว่า การทำสถานพยาบาลได้แก่การจัดที่พักหรืออาหารให้คนไข้รวมทั้งการรักษาพยาบาลและการให้ยา ให้เสียในอัตราร้อยละ ๑ การหักค่าใช้จ่ายก็มี พระราชกฤษฎีกากำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๔๙๖ และต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พีงประเมิน(ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๘(๑๒) ว่าการทำสถานพยาบาลรวมทั้งการรักษาพยาบาลและการจำหน่ายยา ร้อยละ ๘๕ ใช้บังคับอยู่ เป็นแต่ว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ.๒๕๐๔ ไม่ได้ระบุคำว่า”สถานพยาบาล” ไว้ แต่ระบุไว้ในประเภทการค้า ๔ ใน(ฉ) ว่าการรับจ้างทำของอย่างอื่น การทำงานของโจทก์ในฐานะที่เป็นนางผดุงครรภ์ เป็นผู้รับจ้างจัดการให้ทารกคลอดเสียจากครรภ์มารดา โดยมีสินจ้างซึ่งทางฝ่ายหญิงมีครรภ์ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้โจทก์ เมื่อโจทก์ได้ทำคลอดให้แล้ว จึงมีลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ ไม่แตกต่างอะไรกับการที่ทนายความรับจ้างว่าความให้ลูกความ ซึ่งศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้แล้วว่า เป็นการรับจ้างทำของและต้องอาศัยตัวบทกฎหมายว่าด้วยการรับจ้างทำของเป็นหลักบังคับเมื่อผู้ว่าจ้างไม่ชำระสินจ้างแม้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ.๒๕๐๔ ไม่ได้แยกสถานพยาบาลไว้เป็นประเภทการค้าส่วนหนึ่งต่างหาก แต่ก็ไม่ได้ยกเว้นไม่เก็บภาษีการค้าในการประกอบอาชีพที่โจทก์ทำนี้ แต่รวบรวมการค้าต่าง ๆ ไว้เป้นประเภท ๆ การรับจ้างทำของใดไม่เข้าตามรายที่แยกไว้ ก็เข้าอยู่ในการรับจ้างทำของอย่างอื่น ในประเภท ๔(ฉ) หาใช่กฎหมายยกเลิกการเก็บภาษีการค้าการทำสถานพยาบาลและผดุงครรภ์ไม่ พิพากษายืน