คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 286/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะมิได้พูดจาข่มขู่หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่พฤติการณ์ของจำเลยที่เดินเข้าหาผู้เสียหายจนทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจนต้องดึงสร้อยคอทองคำโยนทิ้ง บ่งบอกให้เห็นว่าจำเลยแสดงอาการขู่เข็ญผู้เสียหายแล้วโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยจะได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายหรือไม่ และเมื่อผู้เสียหายโยนสร้อยคอทองคำทิ้งเพื่อมิให้จำเลยแย่งเอาไปได้ จำเลยยังใช้มีดปลายแหลมจ่อที่หน้าอกผู้เสียหายอีก กรณีถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายมิให้ขัดขืนต่อการที่จำเลยจะลักเอาสร้อยคำทองคำและเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์เอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 5,400บาท ของนางแช่ม พวงลำเจียก ผู้เสียหายไป โดยจำเลยใช้อาวุธมีดจะแทงผู้เสียหายอันเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป และยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ การชิงทรัพย์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยได้กระทำโดยใช้รถจักรยานยนต์ 1 คันเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุมเหตุเกิดที่ตำบลลาดน้ำเค็ม อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1092/2543 ของศาลชั้นต้น เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1639/2543 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 983/2544 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1092/2543 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1639/2543 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 983/2544 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสาม, 340 ตรี ให้จำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1092/2543ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนางแช่ม พวงลำเจียก ผู้เสียหายว่า ขณะผู้เสียหายเดินอยู่ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้านเห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาจอดข้าง ๆ ผู้เสียหายและถามหาคนคนหนึ่ง ผู้เสียหายตอบว่าไม่รู้จัก จำเลยเดินเข้าหา ผู้เสียหายเดินถอยหลังแล้วล้มลงผู้เสียหายเห็นท่าทางอาการจำเลยไม่ดีจึงดึงสร้อยคอทองคำที่สวมคอออกเป็นเหตุให้สร้อยคอขาดเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตกอยู่ข้างตัว อีกส่วนหนึ่งอยู่ในมือผู้เสียหายจึงโยนทิ้งให้พ้นจำเลย จำเลยใช้มีดปลายแหลมยาวประมาณ 5 นิ้ว จ่อที่หน้าอกผู้เสียหายผู้เสียหายใช้มือปัดมีดเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บที่มือ จำเลยเห็นสร้อยคอส่วนที่ตกอยู่ข้างตัวผู้เสียหาย จึงหยิบเอาสร้อยคอดังกล่าวแล้วขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยมิได้พูดจาข่มขู่หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์นั้น เห็นว่า แม้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายจะไม่ปรากฏว่า จำเลยพูดจาข่มขู่หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่เดินเข้าหาผู้เสียหายในลักษณะเช่นนั้นทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจนต้องดึงสร้อยคอทองคำโยนทิ้ง บ่งบอกให้เห็นว่าจำเลยแสดงอาการขู่เข็ญผู้เสียหายแล้วโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยจะได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายหรือไม่ และเมื่อผู้เสียหายโยนสร้อยคอทองคำทิ้งเพื่อมิให้จำเลยแย่งเอาไปได้ จำเลยยังใช้มีดปลายแหลมจ่อที่หน้าอกผู้เสียหายอีก กรณีถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายมิให้ขัดขืนต่อการที่จำเลยจะลักเอาสร้อยคอทองคำและเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา หาใช่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share