คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมได้รับโอนเช็คพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ออกเช็คมาจากป. ผู้ทรงคนก่อน โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28 การที่ ป. ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทได้ชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในภายหลังนั้นเป็นกรณีที่ ป. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมตามความผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งตนจะต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาทไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยซึ่งถูกฟ้องคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยให้การปฏิเสธระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 9 เดือนจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายื่น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีที่โจทก์ร่วมได้รับโอนเช็คพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ออกมาจากนายประเสริฐผู้ทรงคนก่อนนั้น โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ร่วมจึงเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลย มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 การที่นายประเสริฐผู้ทรงคนก่อนซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท ได้ชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในภายหลังนั้น เป็นกรณีที่นายประเสริฐชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมตามความผูกพันตามกฎหมายซึ่งตนจะต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาท ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลย ซึ่งถูกฟ้องคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับไปดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39ในกรณีเช่นนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา”
พิพากษายืน

Share