คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2843/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่พนักงานสอบสวนสั่งปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดหลักประกันเกินจำนวนเงินตามเช็คเป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวน สัญญาประกันมิได้ตกเป็นโมฆะ ดังนั้นเมื่อมีการผิดสัญญาประกัน จึงใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือไม่เกินจำนวนเงินตามเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินฐานผิดสัญญาประกันผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
จำเลยให้การต่อสู้คดี
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาจริงตามฟ้อง และไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดและเมื่อจำเลยทั้งสองไม่อาจส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1ได้มอบเงินให้แก่ผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่ผู้เสียหายยังไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานและวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม กับโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวนและจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาโดยยินยอมใช้เงิน104,000 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงิน 62,000 บาท ตามที่ผู้ต้องหาสั่งจ่ายในเช็ค ผิดแผกแตกต่างกับบทบัญญัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 196 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อยังให้เกิดความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองอันถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาประกันจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาประกันที่จำเลยทั้งสองทำกับโจทก์เฉพาะจำนวนเงินในส่วนที่เกินกว่าจำนวนเงินตามเช็คตกเป็นโมฆะสัญญาส่วนอื่นสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจะต้องใช้ค่าปรับและใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับให้น้อยลงเหลือ50,000 บาท พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาประกันตัวนายถนอม ซอสูงเนิน ผู้ต้องหาตามฟ้องตกเป็นโมฆะหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่8 สิงหาคม 2515 ข้อ 1 ซึ่งบัญญัติว่า “การควบคุมตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ถ้าจำนวนเงินที่ระบุในเช็คแต่ละฉบับหรือหลายฉบับรวมกันเกินกว่าห้าหมื่นบาท การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราว โดยมีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็ค” นั้น เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ในอันที่จะกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรให้นายประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน โดยให้กำหนดจำนวนเงินในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไม่ให้เกินจำนวนเงินตามเช็ค การที่โจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวนสั่งปล่อยนายถนอม ซอสูงเนิน ผู้ต้องหาชั่วคราวโดยกำหนดให้นายประกันชดใช้เงิน 104,000 บาทเมื่อมีการผิดสัญญาประกัน ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงิน 62,000 บาท ตามเช็คนั้น เป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจของโจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวน จึงใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ สัญญาประกันมิได้ผิดแผกแตกต่างหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว อันจะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และในเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้แก่โจทก์ในกรณีนี้ ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้ง จึงถือว่าเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน

Share