คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาการขายฝากทำเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538มีกำหนด 1 ปีครบกำหนดเวลาไถ่คืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539เมื่อโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539ระบุว่าจำเลยยินดีที่จะให้โจทก์ซื้อที่ดินคืนได้ในราคา550,320 บาท ภายในเวลา 1 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์2539 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2539 หากพ้นกำหนดนี้แล้วไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น และโจทก์จำเลยลงชื่อไว้ แสดงว่าขณะทำบันทึกข้อตกลงยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ แม้บันทึกข้อความดังกล่าวจะไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าให้ตกลงขยายเวลาไถ่ถอนการขายฝาก ก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีคำมั่นที่จะขายทรัพย์ที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยเด็ดขาดแล้วให้แก่โจทก์เมื่อราคาที่ซื้อคืน 550,320 บาท ส่วนราคาไถ่ถอนการขายฝาก544,000 บาท ราคาที่ซื้อคืนสูงกว่าราคาไถ่ถอนการขายฝากเพียง 6,320 บาท ซึ่งหากจำเลยขายคืนให้โจทก์ภายใน 1 เดือนแล้ว จำเลยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอัตราร้อยละ 3 นอกจากนั้นจำเลยยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินสุทธิจากการขายทรัพย์คืนต่ำกว่าราคาไถ่ถอนการขายฝาก จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่ขายฝากซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยคืนให้แก่โจทก์ตามพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าจำเลยยอมขยายกำหนดระยะเวลา ขายฝากให้แก่โจทก์อีก 1 เดือน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่พิพาทตามข้อตกลงดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 16144พร้อมบ้านไม้ชั้นเดียว ไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 544,000 บาทกำหนดเวลาไถ่ 1 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาโจทก์ไม่มีเงินไถ่แต่จำเลยยอมทำสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โดยยอมให้โจทก์ซื้อคืนได้ภายใน 1 เดือนในราคา550,320 บาท แต่เมื่อโจทก์ขอซื้อภายในเวลาดังกล่าวจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนขายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ในราคา 550,320 บาท
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงให้โจทก์ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องคืนเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นเดียวว่าข้อตกลงในเอกสารหมาย จ. 2 ที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องคืนเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่จึงตกเป็นโมฆะหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ ให้ศาลพิพากษายกฟ้องโดยค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับหากศาลวินิจฉัยว่ามิใช่เป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ ให้ศาลพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงและเป็นฝ่ายชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน โดยค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 16144ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 108/475 (ที่ถูก 108/457)ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนกับชำระเงินจำนวน 550,320 บาท ให้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นการขยายกำหนดระยะเวลาไถ่อันเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาให้คำมั่นว่าจำเลยยินดีที่จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาที่กำหนดภายในกำหนด 1 เดือนเห็นว่า สัญญาขายฝากทำเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538มีกำหนด 1 ปี ครบกำหนดเวลาไถ่คืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539จำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2539 ข้อความระบุว่า ข้าพเจ้านางณัฐวรรณ พิกุลทองยินดีที่จะให้นางประไพ สุจริต ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16144คืนได้ภายในเวลา 1 เดือนคือตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2539 ถ้าหากพ้นกำหนดวันที่ 21 มีนาคม2539 แล้ว ไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ซื้อขายในราคา 550,320 บาทและโจทก์จำเลยลงชื่อไว้ แสดงว่าขณะทำบันทึกข้อตกลงยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ แม้บันทึกข้อความดังกล่าวจะไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าให้ตกลงขายเวลาไถ่ถอนการขายฝากก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีคำมั่นที่จะขายทรัพย์ที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยเด็ดขาดแล้วให้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณาราคาที่ซื้อคืน550,320 บาท ส่วนราคาไถ่ถอนการขายฝาก 544,000 บาทราคาที่ซื้อคืนสูงกว่าราคาไถ่ถอนการขายฝากเพียง 6,320 บาทซึ่งหากจำเลยขายคืนให้โจทก์ภายใน 1 เดือน แล้วจำเลยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอัตราร้อยละ 3 นอกจากนั้น จำเลยยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย ซึ่งจะเป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินสุทธิจากการขายทรัพย์คืนต่ำกว่าราคาไถ่ถอนการขายฝากจึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่ขายฝากซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยคืนให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าจำเลยยอมขยายกำหนดระยะเวลาขายฝากให้แก่โจทก์อีก 1 เดือน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 496 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่พิพาทตามข้อตกลงดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share