แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทการที่พนักงานอัยการประจำศาลแขวงฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้วพนักงานอัยการจังหวัดมาฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คอีก โจทก์ทั้งสองคดีต่างเป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5)28 จึงเป็นพนักงานอัยการโจทก์ด้วยกันเมื่อมาฟ้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 3 จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
เห็นว่าการออกเช็คโดยหลอกลวงว่าใช้รับเงินได้ ความจริงรับเงินไม่ได้เพราะเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายและธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คตามที่ถูกกล่าวหานั้น แม้จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ด้วย ก็เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท คำฟ้องทั้งสองคดีดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเรื่องเดียวกันและพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสุพรรณบุรีโจทก์ในคดีก่อน และพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีโจทก์คดีนี้ต่างเป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5),28 จึงเป็นพนักงานอัยการโจทก์ด้วยกัน เหตุนี้การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง