คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2797/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน ปรับ 5,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า ของกลางในคดีนี้เดิมจำเลยมีไว้ในครอบครองจำนวนอย่างละ 2 ตัว ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาสัตว์ได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติจนมีจำนวนตามฟ้อง ลูกของสัตว์ป่าดังกล่าวหาใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 ไม่ จึงมิใช่ทรัพย์ที่จะริบได้ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่าจำเลยมีสัตว์ป่าคุ้มครองในจำนวนทั้งหมดตามฟ้องไว้ในครอบครอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้มีไก่ฟ้า 17 ตัว และนกแว่น 8 ตัวอันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 15, 45, 47 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ข้อ 6, 13, 19 และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 15, 45, 47 ทวิ ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยของกลาง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็เป็นการจำนนต่อหลักฐานไม่สมควรลดโทษให้ แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ2 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า ของกลางในคดีนี้เดิมจำเลยมีไว้ในครอบครองจำนวนอย่างละ 2 ตัวซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาสัตว์ได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติจนมีจำนวนตามฟ้อง ลูกของสัตว์ป่าดังกล่าวหาใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไม่ของกลางในคดีนี้จึงมิใช่ทรัพย์ที่จะริบได้ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ฟังได้ตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่า จำเลยมีสัตว์ป่าคุ้มครองในจำนวนทั้งหมดตามฟ้องไว้ในครอบครอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 15 มีความผิดตามมาตรา 40มิใช่มาตรา 45 ดังที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 45 จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 15, 50, 47 ทวินอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share