คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 279/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นเรื่องเอาทรัพย์ของคนอื่นหรือเอาทรัพย์ซึ่งคนอื่นมีเจ้าของร่วมด้วย ไปโดยเจตนาจะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ฉะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเจตนาที่จะเอาทรัพย์เป็นของตนหรือของผู้อื่น แต่แสดงว่า เป็นเรื่องเจตนาอย่างอื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยวิ่งรายทรัพย์และเอาไปซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานได้ยึดรักษาไว้ เพื่อเป็นพยานหลักฐาน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกระทำผิดดังฟ้องโจทก์ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๒, ๓๓๖ ให้ลงโทษตาม มาตรา ๓๓๖ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยต้องการให้น้องชายจำเลยพ้นผิด จำเลยมุ่งต่อการเอาไปหรือทำลายทรัพย์สินของกลางอันเจ้าพนักงานยึดหรือรักษาไว้ หาได้มีเจตนาลักทรัพย์ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม มาตรา ๓๓๖ พิพากษาแก้ว่า จำเลยมิได้กระทำผิดตาม มาตรา ๓๓๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์
ศาลฎีกาพิจารณาบทกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ และ มาตรา ๑(๑) แล้ว เห็นว่า ความหมายของความผิดฐานลักทรัพย์เป็นเรื่องเอาทรัพย์ของคนอื่นหรือเอาทรัพย์ซึ่งคนอื่นมีเจ้าของร่วมด้วยไปโดยเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่น แต่แสดงว่า เป็นเรื่องเจตนาอย่างอื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share