แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่าตัวโจทก์ป่วยและทนายโจทก์มีความคิดเห็นในการดำเนินคดีขัดแย้งกับตัวโจทก์ หากดำเนินคดีให้แก่ตัวโจทก์ต่อไปจะเกิดความเสียหายได้ ทนายโจทก์จึงขอถอนตัวจากคดี คำร้องดังกล่าวแม้จะไม่มีข้อความขอเลื่อนคดี ก็เท่ากับเป็นการขอเลื่อนคดีอยู่ในตัว ศาลชั้นต้น สั่งให้ทนายโจทก์ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ทราบก่อน แล้วศาล จะได้สั่งคำร้องในภายหลัง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่ จะดำเนิน กระบวนพิจารณาในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 เสียก่อน ทั้งใน วันนั้นทนายจำเลยก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเป็นครั้งแรก เพราะ ความเจ็บป่วย ซึ่งศาลควรจะต้องสั่งเลื่อนคดีตาม มาตรา 40 อยู่แล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยต่อไปจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นไว้ คดีก็ไม่ ต้องห้าม อุทธรณ์ฎีกา และเป็นกรณีแตกต่างกับการที่ ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจ สั่งให้เลื่อนหรือไม่ให้เลื่อนคดี ซึ่งคู่ความที่จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่ง ระหว่างพิจารณาดังกล่าวจะต้องโต้แย้งคำสั่งศาลไว้จึงจะมีสิทธิ อุทธรณ์ฎีกา
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธความรับผิด
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีศาลชั้นต้นอนุญาต ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องว่าตัวโจทก์ป่วย และทนายโจทก์ขอถอนตัว ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า ให้ทนายโจทก์ส่งสำเนาคำร้องฉบับนี้ให้โจทก์ ทราบก่อนแล้วศาลจะได้สั่งอนุญาตในภายหลัง ในวันนั้นทนายจำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยอ้างว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนทนาย แต่มิได้ขอเลื่อนคดีและไม่มีพยานโจทก์มาศาล โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแต่ดำเนินคดีไปในทำนองประวิงคดี จึงถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป ถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่าตัวโจทก์ป่วยและทนายโจทก์มีความคิดเห็นในการดำเนินคดีขัดแย้งกับตัวโจทก์ เกรงว่าหากดำเนินคดีให้แก่ตัวโจทก์ต่อไปจะเกิดความเสียหาย จึงขอถอนตัวจากคดีคำร้องดังกล่าวแม้จะไม่มีข้อความขอเลื่อนคดีก็เท่ากับเป็นการขอเลื่อนคดีอยู่ในตัว ศาลชั้นต้นสั่งให้ทนายโจทก์ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ทราบก่อน แล้วศาลจะได้สั่งอนุญาตตามคำร้องในภายหลัง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 เสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ตัวโจทก์ ทั้งในวันนั้นทนายจำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเป็นครั้งแรกเพราะป่วยเป็นไข้หวัด ซึ่งศาลควรจะต้องสั่งเลื่อนคดีตามมาตรา 40 อยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243(2) แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นไว้ คดีก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาใหม่ได้ กรณีนี้แตกต่างกับการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้เลื่อนหรือไม่ให้เลื่อนคดี ซึ่งคู่ความที่จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าวจะต้องโต้แย้งคำสั่งศาลไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา
พิพากษายืน