แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยงดออกอาชญาบัตรให้โจทก์ เป็นการกระทำมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ควรฟังข้อเท็จจริงตามข้อนำสืบของโจทก์ คดีมีมูลครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ควรรับประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ดังนี้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเลี้ยงและค้าสัตว์ โจทก์ได้ดำเนินการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสุกรระดับจังหวัดได้ให้โจทก์และสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรอ่างทอง จำกัด มีสิทธิได้รับอาชญาบัตรฆ่าสุกรทั่วทุกอำเภอในจังหวัดอ่างทอง โดยให้อำเภอ เทศบาลและสุขาภิบาลเป็นผู้ออกอาชญาบัตรให้แก่โจทก์และสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรอ่างทอง จำกัด เพียงสองสหกรณ์เท่านั้น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2523 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง ได้บังอาจใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและโดยทุจริต เรียกนายลื้อ แซ่ลิ้ม นายพิชัย จารุเอนกนายเผ่า ภู่ศิริ นายยี่ แซ่ภู่ นางสังวาลย์ เจริญใจ และนางบุญมา ปัทมโรจน์สมาชิกของโจทก์ไปชักชวนแนะนำให้แยกขออาชญาบัตรฆ่าสุกรโดยตรงต่อจำเลยที่ 1 ถ้าจะขออาชญาบัตรในนามของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะให้เพียงวันที่31 สิงหาคม 2523 ต่อจากนั้นจะไม่ออกอาชญาบัตรให้แก่โจทก์ การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ ข้อบังคับของโจทก์ และขัดต่อมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสุกรระดับจังหวัด และจำเลยที่ 1 ได้บังอาจใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบมีหนังสือสั่งงดการออกอาชญาบัตรไม่ให้โจทก์ฆ่าสุกรตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2523 เป็นเหตุให้โจทก์และประชาชนเดือดร้อนและโจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2523 เวลากลางวัน นายจำลอง ส่งชุนกรรมการและตัวแทนของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ออกอาชญาบัตรฆ่าสุกรสำหรับวันที่ 30 และ 31 สิงหาคม 2523 ซึ่งจะต้องฆ่าสุกรในคืนวันที่29 และ 30 สิงหาคม 2523 จำนวนวันละ 18 ตัว และสำหรับวันที่ 1 และ 2กันยายน 2523 ซึ่งจะต้องฆ่าสุกรในวันที่ 31 สิงหาคม 2523 และ 1 กันยายน2523 จำนวนวันละ 16 ตัว จำเลยที่ 1 ออกอาชญาบัตรให้โจทก์เฉพาะสำหรับวันที่ 30 และ 31 สิงหาคม 2523 เท่านั้น ส่วนสำหรับวันที่ 1 และ 2 กันยายน2523 จำเลยที่ 1 ไม่สั่งการแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตกลั่นแกล้งโจทก์เป็นการส่วนตัว ทำให้โจทก์และสมาชิกของโจทก์ผู้เลี้ยงและผู้ค้าได้รับความเสียหาย และในวันที่ 29 สิงหาคม 2523 เวลากลางวัน สมาชิกของโจทก์ได้นำสุกรไปกักขังไว้ในคอกของจำเลยที่ 1 รวม 18 ตัว เพื่อรอการฆ่าในคืนนั้นสมาชิกของโจทก์ไปติดต่อขอนำสุกรทั้ง 18 ตัวออกจากคอกเพื่อทำการฆ่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ด้วยการเข้าขัดขวางไม่ยอมให้สมาชิกของโจทก์เข้าไปในคอกสุกรดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่มีซากสุกรชำแหละจำหน่ายแก่ประชาชนในวันที่ 30 สิงหาคม 2523 และวันต่อ ๆ มาจนบัดนี้เหตุเกิดที่สำนักงานเทศบาลเมืองอ่างทอง และที่คอกสุกรเทศบาลเมืองอ่างทองตำบลตลาดหลวง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าสุกรจำนวน 18 ตัว ค่าธรรมเนียมอาชญาบัตรตลอดจนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นและค่าขาดผลกำไรตัวละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 63,114บาท และโจทก์ยังได้รับความเสียหายจากการไม่ได้ฆ่าสุกรตามอาชญาบัตรที่จำเลยที่ 1 ออกให้สำหรับวันที่ 31 สิงหาคม 2523 คิดเป็นเงิน 45,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 108,114 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 สั่งงดการออกอาชญาบัตรให้โจทก์และสมาชิกของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2523 เป็นต้นไปอีกวันละ 45,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชอบ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 83 และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วฟังว่า จำเลยที่ 1 มิได้ออกอาชญาบัตรให้โจทก์ฆ่าสุกรสำหรับวันที่ 30 และ 31 สิงหาคม 2523 การที่จำเลยทั้งสองงดออกอาชญาบัตรให้โจทก์เป็นการปฏิบัติตามมติของสภาเทศบาลที่มีมติให้จำเลยที่ 1 ออกอาชญาบัตรให้แก่เอกชนทั่ว ๆ ไป จำเลยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะงดการออกอาชญาบัตรให้โจทก์ได้ จำเลยทั้งสองกระทำตามอำนาจหน้าที่ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และมิได้กระทำโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีมูลความผิดตามที่ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง (คดีส่วนอาญา) สำหรับคดีส่วนแพ่ง ให้โจทก์ดำเนินการฟ้องร้องเข้ามาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ออกอาชญาบัตรให้โจทก์เป็นเพียงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่เป็นการกระทำโดยมีเหตุผลสมควร ตามแบบแผนทำนองคลองธรรมอย่างเปิดเผยโดยสุจริต ไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด และไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ทั้งมิได้แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ จึงไม่มีมูลความผิดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ในชั้นนี้คงมีปัญหาเฉพาะคดีส่วนอาญาซึ่งปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 8 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยงดออกอาชญาบัตรให้โจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496มาตรา 50 และ 53 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ฎีกาโต้เถียงว่าเป็นการกระทำที่มิชอบเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายควรฟังข้อเท็จจริงตามข้อนำสืบของโจทก์ คดีของโจทก์มีมูลครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ควรรับประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามนัยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์