แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนถึง170เม็ดถูกบรรจุไว้ในถุงพลาสติกผูกมัดติดกับสายไฟใต้คัสซีแสดงว่าผู้กระทำการดังกล่าวต้องมีเวลาและโอกาสอยู่กับรถยนต์คันเกิดเหตุมากหากผู้กระทำประสงค์จะกลั่นแกล้งจำเลยแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของกลางจำนวนมากและนำไปผูกมัดซ่อนอยู่ในที่เร้นลับเช่นนั้นที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยอาจถูกส. กลั่นแกล้งนั้นคงมีแต่จำเลยเท่านั้นที่เบิกความเป็นพยานทั้งสาเหตุโกรธเคืองระหว่างจำเลยกับส.ก็เกิดก่อนเกิดเหตุถึง1ปีมาแล้วยากที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ยิ่งกว่านั้นพ. นายจ้างของจำเลยยังเคยเตือนจำเลยว่าอย่ามีของผิดกฎหมายไว้ในรถยนต์คันเกิดเหตุแสดงว่านายจ้างของจำเลยเองก็ยังไม่มีความไว้วางใจจำเลยเช่นกันเมื่อพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 7 ทวิ, 22,106, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 5, 9, 13, 15, 16ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531) เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2531ข้อ 3(7) และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536)เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 19 มกราคม 2536ริบเมทแอมเฟตามีน ของกลางที่เหลือจากการวิเคราะห์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 วรรคแรก, มาตรา 106 ทวิ จำคุก 6 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 170 เม็ดซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกผูกติดกับคัสซีรถยนต์บรรทุกสิบล้อซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับในวันเกิดเหตุ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีชลิตเกตุศรีเมฆ และจ่าสิบตำรวจณรงค์ หอมเย็น เป็นประจักษ์พยานเบิกความต้องกันว่า พยานได้ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุอยู่ในถุงสีเหลืองมีฝาปิดแล้วผูกมัดด้วยถุงพลาสติกสีขาวอีกชั้นหนึ่ง ถุงดังกล่าวมีเทปใสพันไว้และผูกติดอยู่กับสายไฟใต้คัสซี สภาพของถุงเปื้อนฝุ่นและคราบน้ำมัน เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนถึง 170 เม็ด ถูกบรรจุไว้ในถุงพลาสติกผูกมัดติดกับสายไฟใต้คัสซี แสดงว่าผู้กระทำการดังกล่าวต้องมีเวลาและโอกาสอยู่กับรถยนต์คันเกิดเหตุมาก ซึ่งหากผู้กระทำประสงค์จะกลั่นแกล้งจำเลยแล้วผู้กระทำไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ของกลางจำนวนมากและนำไปผูกมัดซ่อนอยู่ในที่เร้นลับเช่นนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยอาจถูกนายสมศักดิ์กลั่นแกล้งนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยเท่านั้นเบิกความเป็นพยาน สาเหตุโกรธเคืองระหว่างจำเลยกับนายสมศักดิ์ก็เกิดในปี 2537 ก่อนเกิดเหตุถึง 1 ปีมาแล้ว จึงยากที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ยิ่งกว่านั้นได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเองว่านายไพลิน สาครนครินทร์ นายจ้างของจำเลยได้โทรศัพท์เตือนจำเลยว่าอย่ามีของผิดกฎหมายไว้ในรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ แสดงว่านายจ้างของจำเลยเองยังไม่มีความไว้วางใจจำเลย ในกรณีนี้พยานหลักฐานโจทก์มั่นคง พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ไป ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น