คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘ทุจริตต่อหน้าที่’ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(1) หมายถึง การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือการปฏิบัติของบริษัทนายจ้าง ลูกจ้างประจำรายเดือนลากิจหรือลาป่วยคงได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกัน การที่ลูกจ้างมีความจำเป็นที่มาทำงานไม่ได้จึงลาป่วยเพราะไม่อาจลากิจได้เนื่องจากการลากิจต้องลาล่วงหน้า การลาของลูกจ้างจึงเป็นการลาผิดระเบียบ ไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ เพราะลูกจ้างไม่ได้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างแต่ประการใด
ลูกจ้างหยุดงานเพียง หนึ่งวันครึ่งโดยยื่นใบลาผิดระเบียบ ยังไม่เป็นการร้ายแรงถึงขนาดที่นายจ้างจะถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างนายณรงค์ลูกจ้างโจทก์เนื่องจากไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทำงานอย่างถ่วงเวลา ได้ผลงานน้อยเป็นประจำ ตักเตือนแล้วก็ไม่ปรับปรุง และหยุดงานโดยเขียนใบลาป่วยอันเป็นเท็จ ต่อมาจำเลยทั้งสิบซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และมีคำสั่งให้โจทก์รับนายณรงค์กลับเข้าทำงาน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฉบับที่กล่าวในฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ฯลฯ ในระหว่างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ลูกจ้าง ฯลฯ กระทำการต่าง ๆ 3 ประการ ในประการที่ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง คำว่า ทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึงแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากตำแหน่งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของนายจ้างเบียดบังเอาทรัพย์สินของนายจ้างหรือมีหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างหนึ่งไม่ได้ทำ แต่กลับรายงานเท็จว่าทำแล้วเพื่อแสวงหาประโยชน์จากค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น ได้ความว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือทางปฏิบัติของบริษัทโจทก์ การที่ลูกจ้างประจำรายเดือนลากิจหรือลาป่วยคงได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกัน นายณรงค์เป็นลูกจ้างรายเดือนยื่นใบลาหยุดงานเพียง 1 เศษ 1 ส่วน 2 วัน อ้างว่าป่วย แต่ข้ออ้างว่าป่วยฟังไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากนายณรงค์มีความจำเป็นที่มาทำงานไม่ได้ก็ต้องลากิจซึ่งตามปกติต้องลาล่วงหน้า การที่นายจ้างไม่เชื่อว่าป่วยเพิ่งปรากฏภายหลังจากที่ระยะเวลาในการยื่นใบลากิจล่วงพ้นไปแล้ว ไม่อาจจะย้อนกลับไปลากิจได้อีก การลาของนายณรงค์จึงเป็นการลาที่ผิดระเบียบ ไม่ใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่เพราะนายณรงค์ไม่ได้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากค่าจ้างที่จะได้รับจากนายจ้างแต่ประการใด เมื่อพิเคราะห์พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123(4) ที่ว่า “ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร” ประกอบด้วยแล้วจะเห็นได้ว่าแม้ลูกจ้างจะละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้ยื่นใบลา ก็ต้องเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลานานถึงสามวันทำงานติดต่อกันนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ ฉะนั้นเพียงแต่ลูกจ้างหยุดงานเพียง 1 เศษ 1 ส่วน 2 วัน โดยยื่นใบลาผิดระเบียบก็ย่อมไม่เป็นการร้ายแรงถึงขนาดที่นายจ้างจะถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้ ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่านายณรงค์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและทำงานในหน้าที่อย่างถ่วงเวลาได้ผลงานน้อยเป็นประจำ ตักเตือนแล้วก็ไม่แก้ไขปรับปรุง และถือเป็นเหตุเลิกจ้างอีกประการหนึ่งนั้น ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123(3) แล้วหรือไม่ สมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาข้อนี้เสียก่อน

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือในกรณีที่อ้างว่านายณรงค์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและทำงานในหน้าที่อย่างถ่วงเวลาได้ผลงานน้อยเป็นประจำแล้วหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share