คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้การเลิกจ้างของจำเลยจะมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและเงินอื่น ๆ ตามข้อบังคับของจำเลยไม่
โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าเสียหายให้โจทก์คณะกรรมการยกคำร้องของโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง โดยมิได้วินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยต้องจ่ายเงินต่าง ๆ นั้นให้โจทก์หรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการมีคำสั่งว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและโบนัสให้โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและโบนัสให้โจทก์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ได้พิเคราะห์บทบัญญัติ มาตรา 49 แล้วเห็นว่ามีความหมายว่า หากศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงานต่อไป หากเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้ลูกจ้างแทนการกลับเข้าทำงานได้ดังนั้นไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นจะเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ก็ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะสั่งให้นายจ้างจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและโบนัส การจ่ายหรือไม่จ่ายเงินประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวนั้น ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46, 47 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582, 583 และระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่กำหนดเกี่ยวกับโบนัส ไม่เกี่ยวกับมาตรา 49 ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า การเลิกจ้างของจำเลยที่ 1มิใช่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หรือมิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าเสียหายให้โจทก์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง คำสั่งนี้จึงมีผลให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินตามคำร้องให้โจทก์และศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คำสั่งนั้นจึงยังมีผลบังคับ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกการจ้างล่วงหน้า และโบนัสให้โจทก์ เป็นการขัดกับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ยังมีผลบังคับเป็นการไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 โดยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ยื่นข้อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ทบทวนคำสั่งเลิกจ้างนายสันทัด แซ่โล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 117/2523ให้ยกคำร้องของโจทก์ โดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าจำเลยที่ 1มิได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 121 โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามมาตรา 124 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มิได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกเลิกการจ้างล่วงหน้าและโบนัสให้โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำสั่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินเหล่านั้นให้โจทก์หาขัดกับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่กล่าวนั้นไม่”

พิพากษายืน

Share