คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737-2751/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนตามเช็คเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 12 รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,467,184 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ตกลงลดหนี้แก่จำเลยจำนวน 467,184 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 15,000,000 บาท ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 1,000,000 บาท โดยทำหลักฐานเป็นสัญญากู้ยืมเงินตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 13 ถึง จ. 26 และ จ. 56 ไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เช็คพิพาทตามสำเนาเช็คทั้งสิบห้าฉบับลงวันที่สั่งจ่ายตรงกับวันถึงกำหนดชำระเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 13 ถึง จ. 26 และ จ. 56 ฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้โดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ในเช็คจำนวน 15 ฉบับ โดยแยกฟ้องเป็น 15 สำนวน และมีคำขอให้นับโทษของจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสิบห้าสำนวนเข้าด้วยกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละสำนวนเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า การออกเช็คของจำเลยทั้ง 15 ฉบับ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 และลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน โดยเรียงกระทงลงโทษซึ่งศาลถือว่ามีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อ แม้ศาลล่างทั้งสองจะปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 มาด้วยนั้น ย่อมหมายความว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 15 สำนวน สำนวนละ 6 เดือน แล้วนับโทษแต่ละสำนวนต่อกันตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง เพียงแต่อ้างบทมาตราผิดพลาดไป

ย่อยาว

คดีทั้งสิบห้าสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบห้าสำนวนว่าโจทก์และให้เรียกจำเลยทั้งสิบห้าสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ป.อ. มาตรา 92 และนับโทษจำเลยทั้งสิบห้าสำนวนต่อเนื่องกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสิบห้าสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสิบห้าสำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 15 กระทง เป็นจำคุก 90 เดือน และเมื่อศาลเรียงกระทงลงโทษจำเลยอันมีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อตามคำขอในฟ้องโจทก์แล้ว จึงไม่จำต้องสั่งให้นับโทษต่ออีก
จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนตามเช็คเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 12 รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,467,184 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ตกลงลดหนี้แก่จำเลยจำนวน 467,184 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 15,000,000 บาท ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 1,000,000 บาท โดยทำหลักฐานเป็นสัญญากู้ยืมเงินตามสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 13 ถึง จ. 26 และ จ. 56 ไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่เช็คพิพาทตามสำเนาเช็คทั้งสิบห้าฉบับลงวันที่สั่งจ่ายตรงกับวันถึงกำหนดชำระเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 13 ถึง จ. 26 และ จ. 56 ฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ โดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ในเช็คจำนวน 15 ฉบับ โดยแยกฟ้องเป็น 15 สำนวน และมีคำขอให้นับโทษของจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสิบห้าสำนวนเข้าด้วยกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละสำนวนเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการออกเช็คของจำเลยทั้ง 15 ฉบับ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน โดยเรียงกระทงลงโทษซึ่งศาลถือว่ามีผลเสมือนเป็นการนับโทษต่อ แม้ศาลล่างทั้งสองจะปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 91 มาด้วยนั้น ย่อมหมายความว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 15 สำนวน สำนวนละ 6 เดือน แล้วนับโทษแต่ละสำนวนต่อกันตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง เพียงแต่อ้างบทมาตราผิดไป ซึ่งศาลฎีกาย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 6 เดือน นับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 972/2542, 546/2542, 315/2542, 4038/2541, 3935/2541, 3692/2541, 3691/2541, 3837/2541, 3231/2541, 2496/2541, 2489/2541, 1518/2541, 1113/2541, 122/2541 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3956/2540 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ คำขอให้เพิ่มโทษให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share