คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2732/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยืมรถยนต์ของโจทก์ไปใช้และเกิดความเสียหายโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้รู้เห็นด้วยและโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ยืมโดยมิได้บอกกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสทักท้วงโจทก์และห้ามปรามจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้ยืมรถยนต์ของโจทก์ไปขับขี่ แล้วขับขี่ชนเสาไฟฟ้าเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์ของโจทก์ไปชนเสาไฟฟ้าเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาได้ควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1หรือไม่ ไว้ว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะจำเลยที่ 1 มาขอยืนรถโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้มาด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหนังสือขอยืมมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ซึ่งเป็นญาติกับจำเลยทั้งสามก็มิได้สอบถามไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้ง ๆ ที่ทราบว่ามีโทรศัพท์อยู่ สามารถติดต่อกันได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ได้รู้เห็นการที่จำเลยที่ 1ไปยืมรถยนต์ของโจทก์ การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์ของโจทก์ไปโดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีโอกาสทักท้วงโจทก์และห้ามปรามจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาจะได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

Share