คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำฟิล์มภาพยนตร์ซึ่ง อ. และ ส. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ออกฉายเรียกเก็บเงินในการค้าโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของผู้เสียหาย และเป็นการฉายภาพยนตร์โดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ไม่จำต้องบรรยายว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หมายถึงผู้ใดและภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างขึ้นในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์เพราะเป็นข้อเท็จจริงในทางนำสืบ
ส. เป็นเพียงผู้เช่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จาก อ. จึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์และไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และการที่ ส. ได้รับมอบอำนาจจาก อ. ให้ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แต่ ส. ไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์แทน อ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมาจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวซึ่งเป็นความผิด ยอมความได้ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ภาพยนตร์เรื่องใดได้รับอนุญาตจากกรมตำรวจให้นำออกฉายตามสถานที่มหรสพได้แล้ว ย่อมสามารถนำออกฉาย ณ สถานที่มหรสพใดได้ในภายหลังโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานอื่นใดซ้ำอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำการละเมิดสิทธิในภาพยนตร์จีนชื่อภาษาไทยว่า ไอ้หนุ่มพันมือ ของ อ.กรุงเกษมฟิล์มและนายสุวรรณ เจนศิริศักดิ์ผู้เสียหาย โดยนำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉายเก็บเงินในทางการค้าที่วัดหนองหว้า ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และฉายภาพยนตร์โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯลฯ พระราชบัญญัติภาพยนตร์ ฯลฯ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ศาลอนุญาตให้นายสุวรรณ เจนศิริศักดิ์ เข้าร่วมเป็นโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และฉายภาพยนต์โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามฟ้อง ลงโทษจำคุกและปรับ ฯลฯ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองฐานเคลือบคลุม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองโดยมิได้รับอนุญาตจาก อ.กรุงเกษมฟิล์มอันเป็นนิติบุคคล และจากนายสุวรรณ เจนศิริศักดิ์ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายแต่ผู้เดียวในภาพยนตร์จีน ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ไอ้หนุ่มพันมือ” ได้ร่วมกันนำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉาย แพร่เสียง แพร่ภาพและโฆษณาให้ประชาชนฟังและชมโดยเรียกเก็บเงินในการค้า อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของผู้เสียหายและโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวสำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนตามองค์ประกอบในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4, 13, 24, 25, 26 และ 43 ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามฟ้องแล้ว ส่วนข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติภาพยนตร์ โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาเป็นใจความว่า จำเลยได้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉายแพร่เสียง แพร่ภาพและโฆษณาให้ประชาชนฟังและชม โดยเรียกเก็บเงินในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 มาตรา 5, 20 พระราชบัญญัติภาพยนตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2479 มาตรา 4 จะเห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนตามองค์ประกอบในพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 มาตรา 5และมาตรา 20 แล้ว ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่โจทก์อ้างมาในฟ้องดังกล่าวนี้ ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 นั่นเอง หาจำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายว่าพนักงานเจ้าหน้าที่แผนกควบคุมภาพยนตร์ กรมตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจภาพยนตร์ประจำท้องถิ่น ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วยไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ได้บรรยายข้อเท็จจริงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในประเทศใด หากสร้างขึ้นในต่างประเทศและประเทศนั้นไม่ได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 นั้น เห็นว่า การที่ภาพยนตร์ตามฟ้องจะสร้างขึ้นในประเทศใด ไม่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่อาจทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในฟ้องด้วยก็หาเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

อย่างไรก็ดีโดยที่มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ได้บัญญัติให้ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาเรื่องการร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยด้วย เนื่องจากคดีนี้จำเลยฎีกาแต่ปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องที่พิพาทนี้แล้ว และจำเลยเป็นฝ่ายไม่มีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องพิพาท การที่จำเลยนำภาพยนตร์เรื่องพิพาทซึ่งมิได้ซื้อขายหรือเช่าลิขสิทธิ์มาจากผู้สร้างสรรค์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ออกฉายเก็บเงินจากผู้ดู ย่อมถือว่าจำเลยกระทำผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โดยเจตนา ปัญหาที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นก็คือ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องพิพาทนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนหรือไม่ซึ่งในปัญหาดังกล่าวนี้ได้ความจากการนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ฟิล์มภาพยนตร์เอกสารหมาย จ.ร. 1 ว่า โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าลิขสิทธิ์ฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้จากร้าน อ.กรุงเกษมฟิล์มมาเพื่อทำการฉายในภาคอีสานของประเทศไทยเท่านั้น โจทก์ร่วมมิใช่ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้หรือเป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากร้าน อ.กรุงเกษมฟิล์มผู้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากบริษัท ฟูหว่าซีเนมาคัมปะนี ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 และมาตรา 15 แต่อย่างใด ลิขสิทธิ์ในฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นของร้าน อ.กรุงเกษมฟิล์ม มิใช่เป็นของโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาดังกล่าวข้างต้นจึงมิได้มาจากพยานหลักฐานในสำนวน และศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ได้ว่า แท้จริงลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นของร้าน อ.กรุงเกษมฟิล์มตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 2736/2522 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาโจทก์ นายมะโน หรือมะนอ เจ๊ะมานะ กับพวก จำเลย โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัว จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจมอบอำนาจให้นายดุสิต จิตมั่นคงสุข ไปร้องทุกข์และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 จริงอยู่โจทก์นำสืบด้วยว่าร้าน อ.กรุงเกษมฟิล์ม โดยนายเอี้ยว ชมชื่น ผู้เป็นเจ้าของได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมเป็นผู้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งลักลอบฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตามเอกสารหมาย จ.2 ด้วย แต่ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ระบุไว้ชัดว่า ให้ทำการร้องทุกข์และดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาเพียงแห่งเดียว และมิได้ให้อำนาจโจทก์ร่วมที่จะมอบอำนาจช่วงให้ผู้อื่นไปกระทำการแทนได้ ดังนั้นโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอาศัยหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มอบอำนาจให้นายดุสิตไปทำการร้องทุกข์และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาแทนร้าน อ.กรุงเกษมฟิล์ม ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ การร้องทุกข์และมอบคดีของนายดุสิตให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมาดำเนินคดีกับจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการแทนร้าน อ. กรุงเกษมฟิล์ม เจ้าของลิขสิทธิ์ การที่นายดุสิตทำการร้องทุกข์และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดังกล่าวดำเนินคดีกับจำเลยจึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ เท่ากับไม่มีการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมาจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง

สำหรับข้อหาฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติภาพยนตร์ ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473 มาตรา 5, 20 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479 มาตรา 4 นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว บทกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีนี้คือ มาตรา 5 และมาตรา 20 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ภายในบังคับมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัตินี้ นอกจากที่ได้รับใบอนุญาตก่อนแล้ว ท่านห้ามมิให้

(1) ฉายภาพยนตร์ ณ สถานที่มหรสพ

(2) ————————————”

ส่วนมาตรา 20 บัญญัติว่า “ภายในบังคับมาตรา 21 และ 22 ผู้ใดบังอาจทำ ฉาย นำ หรือส่งออกนอกพระราชอาณาจักรซึ่งภาพยนตร์ หรือสำแดงประกาศ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษ” เมื่อได้พิจารณาความในมาตรา 5 ดังกล่าวข้างต้นประกอบกับมาตรา 4 ซึ่งเป็นบทห้ามมิให้นำหรือฉายหรือแสดง ณ สถานที่มหรสพซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” ด้วยแล้ว ก็เป็นที่เห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 5 ดังกล่าว มุ่งประสงค์จะควบคุมภาพยนตร์ก่อนที่จะนำออกฉายให้ปรากฏแก่ประชาชน มิให้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามเอกสารหมาย จ.1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 463/2523 ของศาลชั้นต้นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ กรมตำรวจได้อนุญาตให้นำออกฉายตามสถานที่มหรสพได้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 จะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ณ สถานที่มหรสพใดในภายหลัง จึงไม่จำต้องนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานอื่นใดซ้ำอีก การที่จำเลยที่ 1 ทำการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันเกิดเหตุจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 5 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามมาตรา 20 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและเบิกความรับในชั้นศาล ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เช่นเดียวกัน

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม ปล่อยจำเลยที่ 1 พ้นข้อหาไป คืนฟิล์มภาพยนตร์ของกลางให้เจ้าของ

Share