คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ ส. ผู้สู้ราคาเดิมจะต้องรับผิดในราคาส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้ ส. นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระแล้วแต่ ส. เพิกเฉยก็ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55หาใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรืออำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแต่เพียงเจ้าพนักงานของศาลในการที่จะบังคับคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความ และจะร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ได้ก็ต่อเมื่อมีคำพิพากษาของศาลให้ ส. ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์เสียก่อน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของ ส.โดยไม่ต้องฟ้องส. เป็นคดีใหม่

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน877,725.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์ที่จำเลยจำนองโจทก์ไว้และทรัพย์สินอื่นบังคับชำระหนี้จนครบ จำเลยทราบคำบังคับแล้วไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงร้องขอบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 8713 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยตามคำสั่งศาล ปรากฏว่านางสบายดี กิตติไพศาลกุล เป็นผู้สู้ราคาสูงสุดซื้อได้ในราคา 1,020,000 บาท แต่นางสบายดีไม่วางเงินมัดจำค่าซื้อตามสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวใหม่ การขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งหลังได้ราคาต่ำกว่าการขายครั้งแรกเป็นเงิน 334,520 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้นางสบายดีนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระ แต่นางสบายดีเพิกเฉย
เจ้าพนักงานบังคับคดีทำหนังสือยื่นต่อศาลว่า นางสบายดีจะต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินสุทธิส่วนที่ขาดดังกล่าว ขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของนางสบายดีขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระส่วนที่ขาดจำนวน 334,520 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะร้องขอให้บังคับคดีในกรณีเช่นนี้ ไม่อาจดำเนินการให้ได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ พิพากษายกอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของนางสบายดีได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของนางสบายดีก็เพราะนางสบายดีเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิม แล้วละเลยไม่วางเงินมัดจำค่าซื้อตามสัญญาจนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่ง และได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ซึ่งนางสบายดีผู้สู้ราคาเดิมจะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 แต่การกระทำของนางสบายดีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 หาใช่เป็นโต้แย้งสิทธิหรืออำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ ประกอบกับการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งผู้ร้องขอจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและจะต้องมีคำพิพากษาของศาลให้นางสบายดีตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสียก่อน และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นแต่เพียงเจ้าพนักงานของศาลในการที่จะบังคับคดีเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ด้วยประการใดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจขอให้ออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของนางสบายดีโดยไม่ต้องฟ้องนางสบายดีเป็นคดีใหม่ได้ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share